‘อินเดีย’ หมุดหมายใหม่โลกแฟชั่น เป้าหมาย ‘แบรนด์หรู’
“อินเดีย” ถือว่าเป็นประเทศที่กำลังมาแรงในแง่มุมของเศรษฐกิจหลากหลายด้าน แม้แต่ใน “อุตสาหกรรมแฟชั่น” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากแบรนด์หรูทั่วโลกที่แห่กันเข้าไปลงทุนเปิดหน้าร้านเป็นจำนวนมากในห้างหรูที่นครมุมไบ
KEY
POINTS
- ถือว่าน่าจับตามองด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมากสำหรับ “อินเดีย” ที่ล่าสุดแบรนด์แฟชั่นสุดหรูระดับโลกกำลังทยอยเข้าไปเปิดสาขาในนครมุมไบ
- BCG และสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอินเดีย เผยแพร่ข้อมูลรายงานการประชุมว่า ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นในอินเดียมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ สูงกว่า 17-18% เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั่วโลก
- นอกจากอินเดียยังมี ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ที่อุตสาหกรรมแฟชั่นให้ความสนใจ และต้องการเข้าไปตีตลาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคมีความต้องการและกำลังซื้อมากขึ้น
หากพูดถึงตลาดของประเทศที่โดดเด่นในเรื่องของแฟชั่นและเป็นที่หมายปองของเหล่า “แบรนด์หรู” ที่ต้องการเข้าไปตีตลาดที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นประเทศแถบยุโรป อเมริกา และโซนเอเชีย โดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ล่าสุดทุกอย่างอาจจะกำลังเปลี่ยนไป เมื่อหมุดหมายของแบรนด์หรูมากมาย เริ่มหันไปให้ความสนใจ “อินเดีย” มากขึ้น เช่น Gucci, Cartier และ Louis Vuitton ที่พากันเข้าไปเปิดหน้าร้านในห้างหรูแห่งใหม่ใจกลางนครมุมไบ “Jio World Plaza Mall”
ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดแฟชั่นแบรนด์หรูของอินเดียกำลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดย ภารัต มีมานี (Bharat Mimani) กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนของ Boston Consulting Group (BCG) India กล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะแบรนด์ระดับโลกเองก็ร่วมมือกับกลุ่มบริษัทต่างๆ ของอินเดีย ในการพยายามมองหาช่องทางนำแบรนด์หรูเหล่านั้นเข้ามาตีตลาดอินเดีย
“อินเดีย” ว่าที่ศูนย์กลางแฟชั่นสุดหรูระดับโลก ?
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2024 ที่ผ่านมา BCG และสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งอินเดีย (RAI) เผยแพร่ข้อมูลจากรายงานการประชุม RAI Retail Leadership Summit ว่า ผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นในอินเดียมีรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา ภาษี และค่าตัดจำหน่าย (EBIDTA) สูงกว่าร้อยละ 17-18 เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั่วโลก
“สิ่งนี้ทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับผู้ค้าปลีกแฟชั่นระดับโลก แบรนด์หรูต่างๆ กำลังมองหากลยุทธ์และวิธีการแข่งขัน เพื่อเข้ามาขยายฐานลูกค้า” ภารัต กล่าว
ปรากฏการณ์ที่เป็นเครื่องพิสูจน์รายงานการประชุมนี้ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ แบรนด์หรูชั้นนำเช่น Gucci, Cartier, Balenciaga และ Louis Vuitton ได้เปิดตัวร้านค้าใน Jio World Plaza Mall ของ มูเกช อัมบานี (Mukesh Ambani) มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ประธานและกรรมการผู้จัดการของกลุ่มบริษัท Reliance Industries ที่เรียกได้ว่าเป็นห้างสรรพสินค้าสุดหรูที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย เปิดตัวไปหมาดๆ เมื่อ 1 พ.ย. 2023
โดย SMCP ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ชาวฝรั่งเศส เป็นแบรนด์หนึ่งที่ได้ลงนามในข้อตกลงกับ Reliance เพื่อขยายธุรกิจไปยังอินเดีย โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนแบรนด์ยุโรปที่จะไปเปิดหน้าร้านในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่าง “อินเดีย” อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์หรูชื่อดังที่มีความโดดเด่นด้าน “เครื่องประดับ” อย่าง Tiffany & Co. และ Bulgari เตรียมเข้ามาเปิดสาขาแรกของอินเดียที่ Jio World ด้วยเช่นกัน
รายงานดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าหลังสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ก็อาจทำให้ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายที่ห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้แบรนด์เริ่มมีข้อเสนอสำหรับการซื้อของหน้าร้านเพิ่มมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความสำเร็จของแบรนด์ในอนาคต แต่ขณะเดียวกันการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยังคงอยู่
สำหรับการเติบโตของแฟชั่นจากแบรนด์หรูในอินเดียหลังนี้มีการคาดการณ์ว่า ผู้บริโภคสินค้าลักษณะดังกล่าวก็อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และการเข้ามาทำตลาดในอินเดียยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย แม้ว่าในช่วงแรกของการเริ่มต้นอาจจะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่หลายฝ่ายก็มองว่ามีแนวโน้มที่ดีในอนาคต และที่สำคัญนอกจาก “อินเดีย” แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่แบรนด์หรูกำลังให้ความสนใจไม่ต่างกัน
เมื่อตะวันออกกลาง อาเซียน และแอฟริกา กลายเป็นตลาดที่น่าจับตา
แม้ว่าในปี 2023 ที่ผ่านมาจะเคยมีการคาดการณ์ว่าสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลกจะเติบโตร้อยละ 11-13 เนื่องจากเป็นช่วงที่การระบาดของโควิดเบาบางลง แต่จากรายงานของ Bain (บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการในอเมริกา) และ Altagamma สมาคมเกี่ยวกับสินค้าหรูของอิตาลี พบว่าตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอาจจะยังคงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ส่วนจีนที่เป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญของแบรนด์หรูก็ยังต้องพบกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจมหภาค
จากปัญหาที่ตลาดเดิมของสินค้าแบรนด์หรูยังไม่มีความแน่นอน ทำให้แบรนด์เหล่านี้ต้องมองหาตลาดใหม่เพื่อการเติบโต แม้ว่าจะยังมีความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อก็ตาม แต่หลายแบรนด์ก็มองว่าเป็นการแข่งขันที่คุ้มค่า โดยตลาดที่หลายแบรนด์พุ่งเป้าไปนอกเหนือจากอินเดีย ได้แก่ ตะวันออกกลาง, เอเชีย (เน้นที่อาเซียน) และแอฟริกา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ก็คือผู้บริโภคอายุน้อยที่เริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
แม้ว่า “ตะวันออกกลาง” หลายฝ่ายจะมองว่ายังไม่มีเสถียรภาพแต่ภูมิภาคนี้ก็ถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับแบรนด์หรู โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีความมั่งคั่งอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน คูเวต และกาตาร์
จากข้อมูลใน Vogue Business นักวิเคราะห์อธิบายว่าประชากรอายุน้อยในตะวันออกกลางและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของประชากรที่มีรายได้สุทธิสูง ไปจนถึงคาดการณ์การเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคในปี 2024 ซึ่งคาดว่าตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาจะแตะระดับ 54.7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงเป็นศูนย์กลางแฟชั่นที่โดดเด่นในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีจำนวนประชากรชาวต่างชาติสูง รวมถึงกลุ่มคนที่ร่ำรวยเป็นพิเศษ จึงกลายเป็นจุดดึงดูดของ “แบรนด์หรู” ได้ไม่ยาก และที่สำคัญมีการคาดการณ์ว่าจำนวนเศรษฐีในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 127,000 รายจากปัจจุบัน
นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมายังมีการจัด Dubai Fashion Week (DFW) เพื่อตอกย้ำถึงโอกาสสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นอีกด้วย
ด้านตลาดฝั่ง “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรืออาเซียนนั้น เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากเกิดปัญหาการชะลอตัวของตลาดแบรนด์หรูในเกาหลีใต้และจีนแผ่นดินใหญ่ทำอาเซียนกลายเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้น ทำให้ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนเรียกได้ว่าอาจกลายเป็นตลาดที่แข็งแกร่ง ซึ่งข้อมูลการวิเคราะห์ของ Bain ระบุว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะเติบโตถึงร้อยละ 4.8 ในปี 2024
อีกหนึ่งตลาดสำคัญที่แบรนด์หรูทั้งหลายกำลังให้ความสนใจก็คือ “แอฟริกา” หลังดีไซเนอร์ชาวแอฟริกัน ลุคฮานโย อินกิ (Lukhanyo Mdingi) คว้ารางวัล Amiri Prize ปี 2023 และรางวัล Woolmark Prize ทำให้แอฟริกาได้รับความสนใจในเรื่องของ “แฟชั่น” ระดับโลกมากขึ้น บวกกับทวีปแอฟริกายังมีศักยภาพมหาศาลสำหรับแบรนด์หรูทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการของผู้บริโภคในแอฟริกาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การใช้จ่ายของภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ แต่ก็ยังเรียกได้ว่าเป็นตลาดที่ยังมีความท้าทายอยู่ ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐาน การขาดการลงทุน และระบบการศึกษาที่จำกัด
แม้ว่าแอฟริกาจะยังมีข้อจำกัดบางอย่างแต่ ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก อ้างอิงจากรายงานของยูเนสโกว่า “แฟชั่นกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในแอฟริกา และรายงานนี้แสดงให้เห็นว่าสามารถพัฒนาต่อไปได้” นอกจากนั้น ออเดรย์ ยังมองว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นในแอฟริกานั้นไม่ได้มีความสำคัญกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นโอกาสของการรวมตัวกันของคนหนุ่มสาว เพื่อเพิ่มการส่งออกวัฒนธรรมแอฟริกันออกไปทั่วโลกอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตลาดแฟชั่นแบรนด์หรูในภูมิภาคใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “อินเดีย” ซึ่งหลังจากนี้ก็น่าสนใจว่าจะสามารถดึงดูดให้ “แบรนด์หรู” ระดับโลกเข้ามาลงทุนได้มากแค่ไหน และจะสามารถขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไรบ้าง
อ้างอิงข้อมูล : Money Control และ Vogue