'พิมพ์ภัทรา' เร่งไทยผู้นำอีวี คงท็อป10 ยานยนต์ ปลุกเสือตื่นผงาดเวทีโลก
"พิมพ์ภัทรา" เร่งไทยสู่ผู้นำยานยนต์ไฟฟ้า คงท็อป10 ยานยนต์โลก กระตุ้นเสือตื่นกลับมาผงาด ชี้โอกาสทำอีวีเชิงพาณิชย์ เหตุผู้เล่นยังน้อย
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก” ในงานเสวนา "เดลินิวส์ ทอล์ก 2024" (Dailynews Talk 2024) จัดโดยเดลินิวส์ ว่า ปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและของโลก และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมายเช่นกัน อาทิ ภาพสัดส่วนของยานยนต์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์สันดาป (ไออีซี) จะหายไปเลยหรือไม่ สุดท้ายแล้วยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะครองโลกหรือไม่ โดยไทยต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ ต้องลุยไปข้างหน้าในขณะที่ยังต้องมีความยืดหยุ่นปราดเปรียวพร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวทีตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทันแต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง
"การที่ประเทศไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลายๆ ด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก ใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของของอีวียานยนต์ไฟฟ้า และยุทธศาสตร์ในเชิงรับ ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด พัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น และส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาดในประเทศและการส่งออก"น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEV) ในปี พ.ศ. 2573 หรือที่เรียกว่า แผน 30@30 คือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 หรือปี ค.ศ. 2030 ผ่านมาตรการสนับสนุนจากรัฐ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า100% ประมาณ 40,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ มาตรการ อีวี3.5 ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย หลังจากมาตรการ อีวี3.0 สำเร็จ
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะและจักรยานยนต์เป็นอีวี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับอัดประจุไฟฟ้า รวม 154 ฉบับ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ แอททริค และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ นอกจากนี้ สถาบันยานยนต์ยังพัฒนาทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
“เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อป 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกส่งต่อให้คนรุ่นหลัง” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว