จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้?

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้?

ภาพของชาวเวียดนามกำลังพูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันอย่างไร้ที่ติอาจเป็นภาพที่หลายคนคุ้นตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเวียดนามในหลายเมืองของสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวเวียดนามเหล่านั้นอพยพย้ายถิ่นฐานหนีความยากลำบากจากสงครามเวียดนามที่ลากยาวถึง 15 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 1960 ไปจนถึงวันที่ไซ่ง่อนแตกในปี 1975 โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนามใต้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม

KEY

POINTS

  • ช่วงหนึ่งเวียดนามเผชิญสภาวะ “สมองไหล” เนื่องจากคนรุ่นใหม่คิดว่าสามารถหารายได้และโอกาสในการทำงานที่ดีมากกว่าอยู่ในเวียดนาม 

  • กลุ่มคนที่อพยพไปอยู่ประเทศแถบตะวันตกคือชาวเวียดนามใต้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม 

  • จำนวนประชากรที่โยกย้ายออกจากเวียดนามสุทธิลดน้อยลงจากเดิมในปี 2001 อยู่ที่ 162,571 คน ไปอยู่ที่เพียง 4,378 คนในปี 2011 

ภาพของชาวเวียดนามพูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันอย่างไร้ที่ติอาจเป็นภาพที่หลายคนคุ้นตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเวียดนามในหลายเมืองของสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวเวียดนามเหล่านั้นอพยพย้ายถิ่นฐานหนีความยากลำบากจากสงครามเวียดนามที่ลากยาวถึง 15 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 1960 ไปจนถึงวันที่ไซ่ง่อนแตกในปี 1975 โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนามใต้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม

ตั้งแต่ช่วงสงครามจนถึงเมื่อสิบปีก่อนหน้า ชาวเวียดนามยังอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีสถานะทางสังคมที่ดีก็มีโอกาสออกไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศซึ่งส่วนหนึ่งก็ตัดสินใจไม่กลับบ้านเกิดและลงหลักปักฐานในต่างประเทศ​

นอกจากปัจจัยเรื่องสงครามระหว่างปี 1960 – 1975 แล้ว งานวิจัย “From Brain Drain and Brain Gain to Brain Circulation: Conceptualizing Re-Expatriation Intentions of Vietnamese Returnees” ยัง อธิบายการย้ายถิ่นฐานของชาวเวียดนามว่าในช่วงหนึ่งเวียดนามเผชิญ "สภาวะสมองไหล” เนื่องจากพวกเขาคิดว่าสามารถหารายได้และโอกาสในการทำงานที่ดีมากกว่าอยู่ในเวียดนาม 

ธนาคารโลก (World Bank) รายงานว่า ครัวเรือนในเวียดนามส่งลูกหลานออกไปเรียนในต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1998 อยู่ที่เพียง 7,770 คน แต่ในปี 2018 กลับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.09 แสนคน  

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้?

จำนวนชาวเวียดนามที่ออกไปเรียนต่อต่างประเทศ

ที่สำคัญ ตั้งแต่ม.ค. - ก.พ. 2024 เวียดนามกลายไปเป็นประเทศที่ส่งนักเรียนไปเรียนที่ต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียนคือประมาณ 1.37 แสนคน ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 5.9 หมื่นคน มาเลเซีย 4.8 หมื่นคนและไทย 2.8 หมื่นคน

โดยประเทศที่ชาวเวียดนามไปเรียนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ และออสเตรเลีย

 

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้? เวียดนามแห่เรียนต่างประเทศมากเป็น “อันดับ 1” ในอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 4 (กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา) -

 

ที่สำคัญ สัดส่วนนักศึกษาชาวเวียดนามในสหรัฐนั้นอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากในช่วงปี 2003 ที่สภาคองเกรสเปิดโครงการให้ทุนการศึกษา Vietnam Education Foundation (VEF) เพื่อรองรับนักศึกษาหัวกะทิชาวเวียดนาม ซึ่งใช้เงินไปทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 185 ล้านบาท)

ศิษย์เก่าของโครงการดังกล่าวก็นับเป็นนักเรียนที่เก่งอันดับต้นๆ ในห้องเรียน โดยออกมาเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ Palexy บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี Machine Leaning, Zalo แอปพลิเคชันแชตยูนิคอร์นสัญชาติเวียดนาม, และ VNG สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจากชาวเวียดนามมากกว่า Facebook เสียอีก

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามอาจกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคสมองไหลออกสู่ยุค “สมองไหลกลับ” เพราะสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่า ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนามกำลังก้าวข้ามจากการเป็น “แหล่งจ้างผลิตราคาถูก” ไปเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์แห่งเอเชีย” เนื่องจากบรรดานักศึกษาที่ออกไปเรียนที่ต่างประเทศเริ่มกลับมาเห็นความหวังของประเทศ

โดยจำนวนประชากรที่โยกย้ายออกจากเวียดนามสุทธิลดน้อยลงจากเดิมในปี 2001 อยู่ที่ 162,571 คน ไปอยู่ที่เพียง 4,378 คนในปี 2011 และตัวเลขดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต่างจากยุคสมัยที่ผู้คนอพยพออกไปประเทศโลกที่หนึ่งเพื่อแสวงหาโอกาสของชีวิต 

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้?

จีดีพีเวียดนามขยายตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ยังรายงานว่า ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอย่างฮาร์วาดและเคมบริดจ์เริ่มกลับมาที่เวียดนามและก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น Tap Tap คอมมิวนิตี้เกมที่ได้รับรางวัล Uber Vietnam และ สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์อย่าง Abivin เป็นต้น 

ประเด็นสำคัญที่ทำให้บรรดาหัวกะทิเหล่านั้นเริ่มมีความหวังกับประเทศมากขึ้นก็หนีไม่พ้นปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างแรกคือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมาอยู่ที่ 4.088 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022  

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้? รายได้ประชากรต่อหัว (GDP per Capita) ของเวียดนาม

รวมทั้ง ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามยังเติบโตต่อเนื่องจากเดิมในปี 1970 อยู่ที่เพียง 70,000 ดอลลาร์มาอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 โดยนักลงทุนต่างชาติมักเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน

ในช่วงปีที่ผ่านมา Intel บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐก็ทุ่มเงินมากกว่า 5 หมื่นบาทสร้างโรงงานในโฮจิมินห์ซิตี้ รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมากต่างต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศแห่งนี้  ไม่ว่าจะเป็น Nvidia หรือ Apple 

ประกอบกับตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัว (GDP Per Capita) ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันจากเดิมปี 1985 อยู่ที่ 235.7 ดอลลาร์ (ประมาณ 8,720.9 บาท) มาอยู่ที่ 4,163.5 ดอลลาร์ (ประมาณ 154,049.5 บาท) ในปี 2022 แม้จะยังต่ำกว่าประเทศไทยในปีเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 6,910 ดอลลาร์ (ประมาณ 255,670 บาท)

โดยตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชากรนั้นโตล้อไปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดโดยในปี 2022 อยู่ที่ 4.088 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งในปีเดียวกันขนาดจีดีพีของไทยอยู่ที่ 4.9542 แสนล้านดอลลาร์

เหรียญมีสองด้าน: ปัญหาโครงสร้างในเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เหรียญล้วนมีสองด้านเพราะขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโตได้ดีและเนื้อหอมมากที่สุดในอาเซียนแต่เวียดนามก็ยังเผชิญกับความท้าทายเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็น

  1. การทุจริตในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยการออกหุ้นกู้ผิดกฎหมาย
  2. การขาดแคลนไฟฟ้าจนเกิดไฟดับบ่อยครั้งในประเทศ 
  3. ตลาดหุ้นเวียดนามที่ยังเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ในกลุ่มเดียวกับประเทศระดับการพัฒนาต่ำเช่นศรีลังกา เพราะมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันน้อยมากโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยจึงทำให้ตลาดหุ้นผันผวนได้อย่างรุนแรงตามสถานการณ์ภายนอก 
  4. ทรัพย์ยากรมนุษย์ของเวียดนามแม้จะอยู่ในวัยแรงงานแต่ยังเป็นแรงงานทักษะต่ำคล้ายประเทศไทย 

อีกทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจว่า แท้จริงแล้วชาวเวียดนามที่เติบโตในประเทศยังต้องการออกไปแสวงหาโอกาสในกลุ่มประเทศแถบตะวันตกอยู่เพราะต้นทุนชีวิตพวกเขายังคงมีจำกัด ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับพวกเขาได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแรงยังคงต่ำมาก

ทว่ากลุ่มคนที่เริ่มกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้นคือลูกหลานของชาวเวียดนามที่อพยพออกไปในช่วงสงครามเวียดนามเพราะคนกลุ่มนี้สามารถยกระดับสถานะทางสังคมได้แล้วจึงกลับเข้ามาในประเทศเพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจมากมาย

"ตอนนี้เวียดนามเผชิญสภาวะที่ว่าคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า คนที่โตในเวียดนามยังคงอยากออกไปหาอนาคตที่ดี ส่วนคนที่กลับมาคือลูกหลานชาวเวียดนามที่อพยพออกไปในช่วงสงคราม"

 

อ้างอิง