สมาคม 'TAIA-EVAT' จี้รัฐทำการบ้าน เพิ่มตลาดส่งออก นำไทยสู่ 'ฮับอีวีโลก'
"TAIA" เผยไทยผลิตยานยนต์อันดับ 10 ของโลก ทะยานเบอร์หนึ่งในอาเซียน แนะภาครัฐมองเห็นอุปสรรคคนไม่มีกำลังซื้อ ฝากนายกฯ หาตลาดส่งออกเพิ่ม "EVAT" ชี้ ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางอีวีโลก แนะรัฐเพิ่มส่งเสริมพลังงานสีเขียว
KEY
POINTS
- "สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย" ระบุ อุตสาหกรรมอีวีเติบโตทั่วโลก จากการเปลี่ยนระบบขนส่งโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
- ประเทศไทยมีโอกาส จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุน ทำให้การใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และ มีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิต
- สมาคมฯ หารือกับนายฯ ขอพื้นที่ในการจัดการแบตเตอรี่เป็นพื้นที่เฉพาะในอีอีซี เพื่อเป็นฐานจัดการแบตเตอรี่ครบวงจร
- สมาคม TAIA เผยตลาดไทยผูกกับตลาดส่งออก ทำให้ปรับตัวไปสู่ยานยนต์เทรนด์ของโลก ต้องเปิด FTA เพื่อเพิ่มการส่งออก
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กล่าวในเวทีสัมมนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Daliynews Talk 2024) หัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?” เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 10 ของโลก มี 49 บริษัทกระทบกับการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า มี 44 แบรนด์ 78 รุ่นในปัจจุบัน เกือบครึ่งเป็นรถอีวีจากจีน รุ่นที่ขายดีคือ 37% ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท และมีมากกว่าครึ่งราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท การแข่งขันราคารุนแรงมาก
ปีนี้ตั้งเป้าผลิต 1.9 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกต่างประเทศ 1.15 ล้านคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน โดยไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียน ส่วนตลาดอีวีในไทยมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนมาก ซึ่งรองลงมาจะเป็นมาเลเซียเพียงกว่า 1 หมื่นคันเท่านั้น โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนเข้ามาของการผลิตรถอีวี ทำให้รถสันดาปลดลง จะเห็นว่า ตลาดส่งออกหลายตลาดหลายภูมิภาคยังดี โดยเพาะอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ มีเพียงเวียดนามที่ลดความต้องการลงจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทวีปโอเชียเนีย ตะวันออกกลางบวกเยอะ ทำให้ภาพรวมโอกาสส่งออกยังมีบวกอยู่บ้างเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม หากเป็นมุมอุตสาหกรรม ถ้ามีดีมานด์ มีผู้ซื้อ คือโอกาส แต่การเข้ามาของรถยนต์รุ่นใหม่ยี่ห้อใหม่ไม่ได้ตอบโจทย์ซัพพลายเชนในปัจจุบัน ที่สามารถผลิตเครื่องยนต์เปลี่ยนเป็นผลิตมอเตอร์ได้หรือไม่ ซึ่งอาจมีผู้ผลิตอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ปัญหาผู้ประกอบการ ทำอยู่บนชิ้นส่วนสันดาป ไปสู่รถอีวี และมีการผลิตตามนโยบาย อีวี 3.0 และอีวี 3.5
"ถือเป็นอุปสรรคที่ต้องให้ภาครัฐเห็น เพราะถึงแม้จะมีเงิน มีทุน มีเทคโนโลยี แต่จะมีคนซื้อหรือเปล่า การดึงคนซื้อมาถึงผู้ผลิต ถ้ามีกำลังซื้อจะเกิดได้ ขณะที่กติกาการค้าโลกใหม่ ยอมรับว่าหนีไม่พ้นแต่ละประเทศต้องมีเรื่องคาร์บอน ซึ่งตลาดไทยผูกกับตลาดส่งออกเยอะ ทำให้ปรับตัวไปสู่ยานยนต์เทรนด์ของโลก เช่นเดียวกับข้อตกลงการค้าเสรี FTA ปัจจุบันมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ หลักๆ คือ ในอาเซียน เมื่อไทยอยู่อันดับ 10 ของโลกแต่เป็นผู้ผลิตไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ และมีอีกหลายเจรจา FTA ที่กำลังเจรจา ซึ่งต้องดูให้สอดคล้องดูที่ไม่มีฐานการผลิตในประเทศนั้น ต้องเป็นการศึกษา และจะเป็นจุดดีถ้าเปิด FTA ได้ จะเพิ่มการส่งออก"
ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังส่งเสริมยานยนต์ให้ไทยสามารถผลิตได้มาก ซึ่งไทยมีรถกระบะ รถอีโคคาร์ ที่เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยน จึงต้องดูว่าจะไปประเทศไหน และเป็นพาวเวอร์เทรนด์แบบไหนในประเทศนั้นๆ สิ่งที่จะฝากถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คืออุตสาหกรรมยานยนต์อยากให้เพิ่มตลาดส่งออกไปต่างประเทศ แต่ต้องดูว่าคู่ค้าไหนที่ส่งออกมากกว่านำเข้า ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งสมาคมฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อยากให้ภาครัฐเลือกเปิดตลาด หาตลาด ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าผ่านไปได้
“เดิมอุตสาหกรรมรถยนต์ผู้เล่นหลักเป็นญี่ปุ่น ยุโรป ปัจจุบันมีจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ มองเป็นประโยชน์เพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ต้องปรับมุมมองภาครัฐ ส่งเสริมสนับสนุนต่อเนื่องและฟังเสียงผู้ประกอบการ ต้องช่วยกันทำให้ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก”
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า สมาคมฯ จัดตั้งปี 2558 ถือว่ายังมีรถไฟฟ้า (อีวี) ในตลาดน้อย ปัจจุบัน มีสมาชิก 390 ราย ประกอบด้วย บริษัทรถ ชิ้นส่วน ประกัน เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าทั้งระบบ สมาคมฯ จึงถือเป็นด่านหน้าในการให้ข้อมูลกับบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาในไทย ซึ่งอุตฯ อีวี ที่เติบโตทั่วโลก เกิดจากหลายๆ ประเทศต้องการเปลี่ยนระบบขนส่งโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในการปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร
อย่างไรก็ตาม ยอดขายอีวีทั่วโลกมีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปี 2035 จะมีสัดส่วนเกินครึ่งของตลาดรถยนต์ ประเทศจีนจะเป็นตลาดใหญ่มาก เกินครึ่งของทั่วโลก ส่วนในอาเซียนก็มีการเปลี่ยนแปลง มีบริษัทเข้ามาตั้งโรงงานในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศไทยมีโอกาสมากกว่าเนื่องจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุน ทำให้การใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และ มีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิต
ทั้งนี้ ไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา ยอดขายรถอีวีมีเพียง 5 คันเมื่อถึงสิ้นปีมียอดจดทะเบียนถึง 7.6 หมื่นคัน มีรถอีวีที่ขายทั้งหมด 54 โมเดล จาก 25 แบรนด์ ในสิ้นปีที่ผ่านมา โดยผลตอบรับดีทำให้เติบโต โดยส่วนใหญ่เป็นรถอีวีจากจีน ส่วนสถานนีชาร์จมี 9,600 หัวจ่าย จาก 2,200 แห่ง เป็นสัดส่วนประมาณ 20 คันต่อ 1 หัวจ่าย โดยในปีนี้ จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอีก ทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน ส่วนผู้ประกอบการต้องปรับตัว
อย่างไรก็ตาม จากแนวทางภาครัฐให้การสนับสนุนจากนโยบาย อีวี 3.0 ถึง อีวี 3.5 ต่อไปประเทศไทยจะมีรถอีวีมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องดูเรื่องวีธีการกำจัดเรื่องแบตเตอรรี่ที่ต้องดำเนินการแบบครบวงจร สมาคมฯได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอพื้นที่ในการจัดการแบตเตอรี่เป็นพื้นที่เฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นฐานจัดการแบตเตอรี่ครบวงจร
ทั้งนี้ รถอีวีจะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ลดลง มูลค่าจะอยู่ที่แบตเตอรรี่ ซึ่งที่ผ่านมาไทยนำเข้า 100% แต่ตอนนี้มีการตั้งโรงงานผลิตแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานรถอีวี ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเป็นฮับยายยนต์ไฟฟ้า จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง เมื่อมองดูประเทศต่างๆ ในอาเซียนไม่มีนโยบาย ส่งเสริมแบบไทย ที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่นเรื่องของภาษีสรรพสามิต เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือไทยต้องสนับสนุนพลังงานสะอาดมากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการเข้ามาตั้งโรงงาน นอกจากนี้ รัฐบาลต้องส่งเสริมกำลังคนในอุตสาหกรรมอีวีเนื่องจากการมีโรงงานเข้ามาตั้ง ความพร้อมภาคแรงงาน และหลักสูตร การเรียนการสอนต้องมีการพัฒนารองรับตลาดแรงงานในอนาคต รัฐต้องจับมือกับเอกชน ให้แรงงาน นักศึกษา มีสถานที่ฝึกงาน และต้องผลักดีนให้เกิดการค้าร่วมทุนการค้าไทย และรถที่ผลิตจากไทยมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ ก็มีโอกาสกระจายสินค้าจากไทยไปต่างประเทศได้มาก