‘พาณิชย์’ เผยผลประชุม MC13 บรรลุข้อตกลงปฏิญญาอาบูดาบี
‘พาณิชย์’ เผยผลการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 13 (MC13) บรรลุข้อตกลงสำคัญ โดยเฉพาะปฏิญญาอาบูดาบี รับมือกับความท้าทายการค้าโลกยุคใหม่ มุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไร้ข้อสรุปการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง พร้อมเห็นชอบให้คอโมโรส และติมอร์-เลสเต เป็นสมาชิกใหม่
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 13 (MC13) ระหว่างวันที่ 26 ก.พ. -1 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยที่ประชุมได้เจรจาอย่างเข้มข้นจนสามารถบรรลุข้อตกลงสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะปฏิญญาอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของสมาชิก WTO ที่จะผลักดันและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO ในการรับมือกับความท้าทายทางการค้าโลกยุคใหม่ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดย่อม และสตรีในภาคการค้า
อีกทั้งยังคงให้การยกเว้นเป็นการชั่วคราว (moratorium) ในกรณีการเก็บภาษีศุลกากรจากการส่งผ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ และในกรณีการฟ้องร้องกรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้จะมิได้ละเมิดความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ WTO จนถึงการประชุม MC14 ในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ประชุมครั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปแผนการเจรจาเรื่องเกษตรได้ แต่สมาชิกจะมีการหารือกันภายหลังต่อไป
สมาชิกยังได้เห็นชอบร่วมกันที่จะผลักดันการพิจารณาในประเด็นต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) อาทิ การให้ความยืดหยุ่นเป็นพิเศษในการปฏิบัติตามความตกลงภายใต้ WTO และการสนับสนุนประเทศที่เพิ่งพ้นจากสถานะ LDC โดยยังคงให้สิทธิประโยชน์บางประการ เพื่อลดผลกระทบจากการสูญเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยได้รับในขณะที่ยังเป็น LDC โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ประเทศคอโมโรส และติมอร์-เลสเต ซึ่งมีสถานะเป็น LDC เข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ซึ่งถือเป็นการต้อนรับสมาชิกใหม่ของ WTO ในรอบเกือบ 8 ปี และเป็นการเปิดประตูให้ประเทศขนาดเล็กสามารถเข้าถึงตลาดโลก และเสริมสร้างการพัฒนาประเทศผ่านกลไกการค้าพหุภาคี รวมทั้งเพื่อยืนยันถึงความสำคัญของระบบการค้าที่มีกฎเกณฑ์ ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และโปร่งใส อีกด้วย
ทั้งนี้ หลังจากที่ WTO ได้บรรลุผลการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (ระยะที่ 1) เมื่อปี 2565 สมาชิก WTO ได้ทยอยยื่นสัตยาบันสารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิก 10 ราย ได้แก่ บรูไนฯ ชาด มาเลเซีย นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ รวันดา ซาอุดีอาระเบีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โตโก และตุรกี ยื่นสัตยาบันเพื่อให้การรับรองความตกลงเพิ่มเติม ส่งผลให้มีสมาชิกที่พร้อมใช้บังคับความตกลงแล้วกว่า 70 ประเทศ ถือเป็นข่าวดีที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสมาชิก WTO ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งไทยอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อจะให้สัตยาบันต่อไป ทั้งนี้ การประชุม MC13 สมาชิกยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงเพิ่มเติม (ระยะที่ 2) ได้ เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น
“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญ สำหรับอนาคตของ WTO ซึ่งผลลัพธ์ต่างๆ จะถูกนำไปต่อยอด โดยสมาชิก WTO จะต้องทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อเสริมสร้างระบบการค้าโลกให้มีความยั่งยืน ครอบคลุม และโปร่งใส รวมทั้งการหารือในประเด็นต่างๆ ที่ยังต้องหาข้อยุติ สำหรับเป็นผลลัพธ์ในการประชุมครั้งถัดไป” นางโชติมา กล่าว