สทนช. เสนอ กนช.เคาะมาตรการฤดูฝน 67 ห่วง นาปรัง 2ลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำเกินแผน
สทนช. เผย ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรน้ำเกินแผนไปมาก ผลจากเกษตรกรแห่ปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการจัดสรรน้ำอย่างใกล้ชิด ขณะเตรียมเสนอ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ในการประชุม กนช. วันที่ 27 มี.ค. นี้
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังปานกลาง โดยในภาพรวมยังคงมีปริมาณฝนน้อย แต่ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกมากในบางพื้นที่ เช่น จ.จันทบุรี จ.ตราด เป็นต้น โดยในระยะนี้ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์พายุฤดูร้อน ถึงแม้ปริมาณฝนจะตกไม่มากนัก แต่ความแปรปรวนของสภาพอากาศอาจส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน รวมถึงผลผลิตทางเกษตรได้
ทั้งนี้ สภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปานกลางในช่วงประมาณเดือน เม.ย. - มิ.ย. 67 ก่อนที่จะมีแนวโน้มเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนนี้ ส่งผลให้มีปริมาณฝนค่อนข้างมาก ซึ่งขณะนี้ สทนช. ได้เตรียมพร้อม (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และจะเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในวันที่ 27 มี.ค. นี้
สำหรับสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำทุกแห่ง รวม 52,313 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 64% ของความจุ โดยขณะนี้อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำเกินกว่าแผนที่วางไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 แต่ยังคงมีปริมาณน้ำสำรองสำหรับการทำนาของทุ่งบางระกำในช่วงเดือน เม.ย. นี้ โดย สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการควบคุมการจัดสรรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของสถานการณ์ลุ่มน้ำแม่กลอง ขณะนี้มีผลการจัดสรรน้ำใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้และมีปริมาณน้ำเพียงพอ โดยในวันนี้ได้มีการทบทวนแผนการระบายน้ำของเขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อระบายน้ำมาช่วยควบคุมค่าความเค็มบริเวณ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ให้มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ แม้จะมีปริมาณน้ำไม่มากนัก แต่ยังคงเพียงพอสำหรับการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ และจะมีการระบายน้ำมาช่วยเสริมปริมาณน้ำในลุ่มน้ำท่าจีนหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย
ทางด้านลุ่มน้ำภาคตะวันออก สถานการณ์ในภาพรวมมีปริมาณน้ำเพียงพอและมีการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน โดยจะมีการจัดสรรน้ำบางส่วนจากเขื่อนบางพระไปช่วยเหลือในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาคุณภาพน้ำ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอ่างฯ ที่จัดสรรน้ำเกินแผนอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนนฤบดินทรจินดาและเขื่อนคลองสียัด ซึ่ง สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน การนิคมอุตสาหกรรม ไปจนถึงบริษัทผู้บริหารจัดการน้ำ ให้มีการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด
“สำหรับเรื่องสถานการณ์น้ำเค็ม ขณะนี้สามารถควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำหลัก 4 สาย ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำในช่วงวันที่ 7 – 13 มี.ค. นี้ ตามที่ สทนช. ได้แจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งจะมีการเพิ่มการระบายน้ำในบางจุดเพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับประชาชน
นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณ จ.สมุทรสาคร โดยได้หารือร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการกำหนดแผนแก้ไขปัญหาจุดที่ไม่มีคันกั้นน้ำ โดยได้มีการสร้างแนวป้องกันชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น และจะมีการเสนอของบประมาณดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป”
นายไพฑูรย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 สทนช. ยังคงลงพื้นที่เพื่อติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และปัญหาคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีการลงพื้นที่ไปแล้วจำนวน 25 จังหวัด เพื่อเข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งนี้ รวมทั้งนำข้อมูลสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่ได้จากการสำรวจมาใช้สำหรับจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในภาพรวมทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ สทนช. ได้ขอให้ทุกหน่วยงานการควบคุมการใช้น้ำและบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ให้มีความสมดุลในภาพรวมและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค พร้อมเน้นย้ำให้มีการบริหารจัดการน้ำตามความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561