กทม. จ่ายหนี้ 'บีทีเอส' 2.3 หมื่นล้าน ราชกิจจาฯประกาศมีผลบังคับใช้วันนี้
จ่ายหนี้ 'บีทีเอส' ราชกิจจาฯประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 กว่า 2.3 หมื่นล้าน เดินหน้าจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย มีผลบังคับใช้วันนี้
อัปเดตกรณี กทม. จ่ายหนี้ บีทีเอส 2.3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 23,488,692,200 บาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ทั้งนี้ประกาศระบุว่า โดยที่กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า "ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567"
ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษจำนวน 23,488,692,200 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้
งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 23,488,692,200 บาท
งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 23,488,692,200 บาท
ผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 23,488,692,200 บาท
ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
สภา กทม. ไฟเขียวจ่าย บีทีเอส หนี้ติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย 2.3 หมื่นล้าน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ได้ลงมติ 44 เสียง เพื่ออนุมัติจ่ายเงินภายใน 2 เดือน ซึ่ง กทม.จะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 4-5 หมื่นล้านบาท มาชำระ 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199 ล้านบาท (ดอกเบี้ยยังไม่เป็นปัจจุบัน) และ 2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786 ล้านบาท (ดอกเบี้ยยังไม่เป็นปัจจุบัน)
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวในวันประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้มาพูดถึงงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (ELECTRICAL AND MECHANICAL : E&M) ประกอบด้วย งานระบบจัดเก็บตั๋ว งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบจ่ายไฟ งานระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ งานระบบความปลอดภัย รวมถึงระบบอื่นๆ หากไม่มีระบบนี้จะไม่สามารถเดินรถได้ โดย กทม.ได้รับโอนทรัพย์สินมาและให้จ่ายหนี้ ทำให้เป็นเรื่องระหว่างเรากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพราะมีการทำเอ็มโอยูให้ทางกรุงเทพธนาคมเป็นผู้ติดตั้ง เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วมูลค่าการติดตั้งและดอกเบี้ยรวมแล้ว 23,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่เคยผ่านการพิจารณาจาก สภากทม. ก่อนจะนำเข้า ครม. แนวทางการดำเนินการ E&M ต้องให้ สภากทม. เห็นชอบการโอนหรือรับ E&M มาก่อน หาก สภากทม.เห็นด้วยกับแนวทางนี้จะส่งเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอต่อครม.เห็นชอบให้เราชำระเงิน ก่อนที่จะเบิกจ่ายเงินได้
อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษา (คลิก)