เกษตรฯ หนุนเกษตรกรปลูกสมุนไพร แมลงเศรษฐกิจ ป้อนวัตถุดิบมาตรฐานโรงงาน
กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ หนุนเกษตรกรเสริมทักษะ สร้างรายได้จากสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ พบเกษตรกรปลูกกระชายขาวมีรายได้เพิ่มเป็น 4,083 บาทต่อไร่ต่อปี จิ้งหรีด 1,907บาทต่อบ่อต่อรุ่น พร้อม ร่วมโรงแปรรูป ป้อนวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ประเมินผลโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถผลิตพืชสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและมีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
ซึ่งช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โครงการฯ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สามารถดำเนินการได้ 57 จังหวัด พัฒนาองค์ความรู้และทักษะเกษตรกรได้จำนวน 1,750 ราย ครบตามเป้าหมาย และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดำเนินการได้ 65 จังหวัด จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 3,367 ราย ครบตามเป้าหมาย โดยโครงการฯ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้สินค้าเกษตรชีวภาพมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ
ภาพรวมจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล พบว่า เกษตรกรทุกรายได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้
จากโครงการในการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรร้อยละ 84 นำความรู้ที่ได้รับมาใช้ปรับปรุงการผลิต
ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น
กระชายขาวผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 213 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 233 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) จากการเพิ่มการดูแลรักษา คัดเลือกหัวพันธุ์ที่มีอายุเหมาะสมในการปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตตรงตามช่วงอายุการเก็บเกี่ยว ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลงจาก 4,560 บาทต่อไร่ เหลือ 4,363 บาทต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 4.32) จากการ
เตรียมแปลงปลูกอย่างถูกวิธี และใช้หัวพันธุ์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลิตได้ราคาสูงขึ้นจาก 15 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 17.50 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) ส่งผลให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้นสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจาก เดิม 3,195 บาทต่อไร่ต่อปี เพิ่มเป็น 4,083 บาทต่อไร่ต่อปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28)
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น
จิ้งหรีดมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 18 กิโลกรัมต่อบ่อต่อรุ่น เป็น 19 กิโลกรัมต่อบ่อต่อรุ่น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) จากการปรับเปลี่ยนชนิด ปริมาณ และความสะอาด ของอาหารจิ้งหรีดให้เหมาะสม และเปลี่ยนสายพันธุ์หลังการเลี้ยงไปแล้ว 1 – 3 รุ่น ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลงจาก 1,239 บาทต่อบ่อต่อรุ่น เหลือ 1,073 บาทต่อบ่อต่อรุ่น (ลดลงร้อยละ 13) จากการปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุในการเลี้ยงที่เหมาะสม
และมีราคาถูกลง
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้นจาก 90 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 99 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) ส่งผลให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้นสร้างรายได้จาก 1,636 บาทต่อบ่อต่อรุ่น เพิ่มเป็น 1,907 บาทต่อบ่อต่อรุ่น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีการรวมกลุ่มหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยจากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพียงร้อยละ 30 แต่หลังเข้าร่วมโครงการฯ มีการรวมกลุ่มเพิ่มเป็นร้อยละ 62
ทั้งนี้ ในปี 2567 โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาด
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่วมพัฒนาโรงแปรรูปวัตถุดิบพืชสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิต โดยมีการสนับสนุนโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และฝึกอบรมหลักสูตรการแปรรูปสมุนไพรด้วยโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดได้ ซึ่ง สศก. จะได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ และผลกระทบจากการดำเนินโครงการมานำเสนอต่อไป