"เศรษฐา" หารือผู้บริหาร "Volkswagen" ปลื้มนโยบายอีวีชวนเพิ่มการลงทุนในไทย
"เศรษฐา" หารือผู้บริหาร "Volkswagen" และ "Infineon Technologies AG" ระหว่างเยือนเยอรมัน ชวนเพิ่มการลงทุนในประเทศ รับนโยบายพลังงานสะอาด และการลงทุนระยะยาว พร้อมขอช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย
วันนี้ (13 มีนาคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบผู้บริหารบริษัทเอกชนสำคัญของประเทศเยอรมนี
เวลา 08.45 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน) นาย Thomas Schäfer, Member of the Board บริษัท Volkswagen Group และ CEO ของ Volkswagen Brand ผู้ผลิตยานพาหนะรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนีซึ่งมีเทคโนโลยีทางวิศวกรรมยานยนต์ขั้นสูง
ปัจจุบันบริษัท Volkswagen มีโรงงานผลิตรวม 114 แห่งทั่วโลก รถยนต์ของบริษัทมีจำหน่ายในกว่า 150 ประเทศ ซึ่ง Volkswagen มีแผนการขยาย Charging Network สำหรับสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายการชาร์จ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตขึ้น ด้วยการสร้าง Quick Charge 45,000 จุดทั่วโลกภายในปี 2568
บริษัทฯ ทำการค้าในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นายกฯ เชิญชวนบริษัทฯ มาลงทุนในไทย long term investment ซึ่งบริษัทฯ ชื่นชมนโยบายของรัฐบาลไทย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมความเป็นมืออาชีพของบริษัทฯ และให้ความมั่นใจบริษัทในเรื่องนโยบายด้านการใช้พลังงานสะอาดซึ่งมีแนวความคิดที่ตรงกันจึงเห็นควรพิจารณาเพิ่มความร่วมมือ
จากนั้น เวลา 09.10 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน) ผู้บริหารบริษัท Infineon Technologies AG เป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และติดอันดับ Top 10 ของโลก มีการดำเนินธุรกิจใน 25 ประเทศ มีลูกค้าหลักในกลุ่มยานยนต์ บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ สำหรับยานยนต์และระบบอุตสาหกรรม ระบบเซ็นเซอร์ คอมพิวเตอร์ ขนาดเล็กที่ใช้สำหรับควบคุมระบบ
ปัจจุบัน บริษัทนี้ใช้พลังงานสีเขียวในกระบวนการผลิตทั้งหมดในโรงงานยุโรป และสำหรับโรงงานในเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงโรงงานในเมืองกูลิมและมะละกา ประเทศมาเลเซีย ก็ได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียว 100% แล้วเช่นกัน
โดยนายกฯ กล่าว ชื่นชมบริษัทฯ ที่ไม่ได้ลงเงินอย่างเดียว แต่เน้นการลงทุนใน research และ training ให้กับคนไทยด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวโน้มจะลงทุนในไทยเพิ่ม และมีแผนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย
เพื่อสร้างบัณฑิตใหม่ที่มีทักษะเฉพาะสำหรับ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านโครงการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Co-op) โครงการ Sandbox และโครงการวิจัยร่วม รวมถึงการส่งนักศึกษาไปฝึกงานและเรียนรู้วิธีการผลิตชิปที่โรงงานเวเฟอร์ของบริษัทในมาเลเซีย ซึ่ง นายกฯ ได้กล่าวให้ความมั่นใจไปในหลายเรื่อง และย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนตามนโยบาย ease of doing business