น้ำในอ่าง เหลือ 62 % สทนช.สั่งคุมนาปรัง2 เข้มบริหารรับมือลานีญาช่วงฤดูฝน
สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นรายแห่งให้เหมาะสม เร่งระบายน้ำจากอ่างฯ น้ำมาก ป้องกันน้ำล้นในช่วงฤดูฝน พร้อมควบคุมพื้นที่เพาะปลูกนาปรังรอบ 2 ป้องกันกระทบการจัดสรรน้ำในอ่างฯ ภาคเหนือ
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีจำนวน 51,420 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 62% ของความจุ จากการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีน้ำเพียงพอตามแผนที่วางไว้ โดยที่ผ่านมาได้มีการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นรายแห่งอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะและปัจจัยของอ่างฯ แต่ละแห่งมากที่สุด
“เนื่องจากการคาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝน สทนช. จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบายน้ำจากอ่างฯ บางแห่งที่มีปริมาณน้ำมาก เช่น เขื่อนบางลาง ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้มีการจัดสรรน้ำเกินกว่าแผนช่วงฤดูแล้งที่วางไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับเตรียมรองรับน้ำช่วงที่มีฝนตกมาก ป้องกันการเกิดภาวะน้ำล้นส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ในส่วนของอ่างฯ บางแห่งที่มีการจัดสรรน้ำเกินแผนจากการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เช่น
เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ในพื้นที่ภาคเหนือ สทนช. ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ ในการติดตามควบคุมการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งควบคุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การจัดสรรน้ำในภาพรวมยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้”
นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็มในช่วงวันที่ 7 – 13 มี.ค. 67 ตามที่ สทนช. ได้มีประกาศแจ้งเตือน ซึ่งทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกันดำเนินงานตามแผนอย่างเต็มที่ โดยภาพรวมขณะนี้คุณภาพน้ำในแม่น้ำหลักทั้ง 4 สาย อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำต่าง ๆ เช่น พื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขากระบี่ซึ่งใช้น้ำจากคลองกระบี่ใหญ่ ที่มีความเสี่ยงน้ำไม่เพียงพอ มีแผนแก้ไขปัญหาโดยจะประสานกรมชลประทานในการใช้น้ำจากอ่างฯ คลองแห้งมาช่วยสนับสนุนน้ำต้นทุนในการผลิตประปา ป้องกันผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
โดย สทนช. จะร่วมบูรณาการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด สำหรับบริเวณ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประสบปัญหาน้ำจากคลองบางแห่งไม่สามารถส่งเข้าไปยังพื้นที่การเกษตรได้ กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการสูบน้ำให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาเรื่องประปาหมู่บ้าน โดย สทนช. ยังคงมีการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์และหาแนวทางให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยช่วงนี้ได้มีการลงพื้นที่ใน จ.สกลนคร และ จ.นครพนม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด