‘SCB EIC’ คาดแบงก์ชาติเร่งลดดอกเบี้ยเหลือ 2% หลังสัญญาณเศรษฐกิจไทยแผ่ว
SCB EIC จับตาประชุมกนง.เดือนเม.ย.นี้ ลดดอกเบี้ย 0.25% และอีก 0.25% ในครึ่งปีแรก หวังลดภาระต้นทุนการเงิน กระตุ้นบรรยากาศลงทุน หลังคาดศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตต่ำ
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาดีเท่าที่เคยคาดการณ์และฟื้นตัวช้าลงเมื่อเทียบกับวิกฤติที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และเมื่อมองไประยะข้างหน้ายังมีปัจจัยท้าทายจากภายนอกประเทศอีกมาก ทั้งเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ซึ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจในประเทศโตช้าลงด้วย
จากเหตุผลข้างต้น SCB EIC จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เหลือ 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทยที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นช้าต่อเนื่องมาในปีนี้
นอกจากนี้ แรงส่งภาครัฐจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 กอปรกับปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูงจากปีก่อนจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้เร็ว เหล่านี้จึงกดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยปรับลดลงจากประมาณการในอดีตที่
SCB EIC ประมาณการศักยภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2560– 2562) อยู่ที่ระดับ 3.4% ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตต่ำลงเหลือ 2.7% ณ เดือนมี.ค. 2567 ต่ำลงจาก 3% ที่ประเมิน ณ เดือน ธ.ค. 2566 ซ้ำเติมเทรนด์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาวที่มีทิศทางลดลงอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้น SCB EIC จึงประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ โดยปรับลง 0.25% ในการประชุมเดือนเม.ย. และอีก 0.25% ในเดือนมิ.ย. เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในครึ่งแรกปีนี้ จะเป็นกลไกการทำนโยบายการเงินจากปัจจัยเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่รุนแรงขึ้นและประเมินนัยต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral rate) ที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วกว่าที่คาด เป็นเพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดเช่นกัน“
โดย SCB EIC ประเมินว่า Neutral rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.1% แล้ว (จากระดับเดิม 2.5%) ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นอกจากจะเป็นการปรับระดับของนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปได้ทันสถานการณ์แล้ว จะยังมีผลช่วยบรรเทาภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทย และสร้างบรรกาศการลงทุนท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้อีกทาง
”เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำลงอย่างต่อเนื่องหากไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เป็นการไม่ไปซ้ำเติมเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และสร้างบรรยากาศกระตุ้นการลงทุน ทั้งนี้ต้องดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เกิดการลงทุนมากกว่าการบริโภค“