นักเศรษฐศาสตร์สศค.แนะเพิ่มมาตรการอสังหาฯกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
นักเศรษฐศาสตร์ สศค. ชี้อสังหาริมทรัพย์มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจต่างๆ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)โดยนายกวิน เอี่ยมตระกูล บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์ และ นางสาวปภัช สุจิตรัตนันท์ นักเศรษฐศาสตร์จากกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาคสศค.ออกบทวิเคราะห์ถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่ามีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอย่างไร โดยระบุ ท่ามกลางการชะลอตัวลงเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งขยายตัวเพียง 1.9% ต่อปี ชะลอลงจากการขยายตัว 2.5% ต่อปีในปี 2565 หนึ่งในมาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญและมีกระแสข่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง คือ มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง โดยหากพิจารณาถึงขนาดของภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อ GDP จะอยู่ที่ราว 4.3% และ 2.7% ตามลำดับ ถือเป็นสาขาเศรษฐกิจขนาดกลางเมื่อเทียบกับสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ในระยะหลังอัตราการเติบโตของสองสาขาเศรษฐกิจนี้ค่อนข้างจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศโดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง ล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อัตราการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างอยู่ที่ +1.1% และ -8.8% ตามลำดับ
ดังนั้น หากภาคอสังหาริมทรัพย์ถูกกระตุ้นให้มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น ไม่เพียงแต่จะเกิดผลกระทบโดยตรงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลไปยังภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำของสาขาเศรษฐกิจทั้งสองให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จากการศึกษาของ พบว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำหรือความเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward Linkages) ของอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในชั้นแรกที่จะได้อานิสงค์ไปด้วย อาทิ การทำเหมือนหินและการย่อยหิน การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต การผลิตซีเมนต์ การทำไม้ซุง การผลิตโลหะ และการผลิตกระเบื้อง เป็นต้น นอกจากนั้น เมื่อการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำเหล่านี้เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ลึกขึ้น เช่น การทำเหมือนแร่ ผลิตภัณฑ์โลหะ การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ และผลิตผลเกี่ยวเนื่องทางการเกษตรต่างๆ เป็นต้น ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หากพิจารณาถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำหรือความเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Forward Linkages) ยังกล่าวได้ว่า อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่เอื้อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปข้างหน้าได้อีกมาก เช่น การผลิตของวิทยุและโทรทัศน์ บริการทางการเงิน การค้า
การประกันวินาศภัย สถานที่เก็บสินค้าและบริการสินค้า บริการบันเทิงและบริการส่วนบุคคล เป็นต้น และสาขาอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยการผลิตให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อเนื่องยาวออกไปได้อีก เช่น ภัตตาคาร ร้านขายเครื่องดื่ม โรงแรม บริการทางการแพทย์ บริการทางการศึกษา และการค้าปลีก เป็นต้น
“จะเห็นได้ว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างค่อนข้างยาวทีเดียว อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของต่างประเทศในอดีตพบว่า แม้ห่วงโซ่อุปทานจะค่อนข้างยาว แต่หากเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในหลายประเทศมีความยาวของห่วงโซ่อุปทานหรือผลกระทบเกี่ยวเนื่องในเชิงเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมณี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์”
จากผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากนำมาคำนวณหาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีมูลค่าของภาคอังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 100 บาทแล้วจะเกิดมูลค่าทางในระบบเศรษฐกิจขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยนักเศรษฐศาสตร์จาก สศค.ได้ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยใช้แบบจำลองบัญชีเมทริกซ์สังคม (Social Accounting Matrix: SAM) พบว่า มูลค่าในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเป็น 113 บาท ซึ่งอยู่ในระดับปานกลางโดยจะน้อยกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสาขาการค้า การศึกษา ดิจิทัล และการเงิน ซึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 130 บาท แต่ก็ยังสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอุตสาหกรรมการเกษตรและขนส่งที่จะเกิดมูลค่าเพียงประมาณ 100 บาท และสูงกว่าอุตสาหกรรมการผลิตและเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงราว 70 บาทเท่านั้น เนื่องจากมีส่วนที่รั่วไหลออกจากเศรษฐกิจจากการนำเข้าสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ
โดยสรุปภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างจึงยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณาในการจัดทำเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและยังส่งผลบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนได้ต่อไป