“น้ำเมากระตุ้นเศรษฐกิจ” ลดภาษีเป็น0 ไทย-อียู?
คาดการณ์ถ้ารัฐลดมาตรการทางการผลิตลง ผลตอบแทนที่รัฐได้จะเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาท แต่ต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท มาตรการที่ออกมาตอนนี้ไม่ได้ปลดล็อคเรื่องทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
KEY
POINTS
- คาดการณ์ถ้ารัฐลดมาตรการทางการผลิตลง ผลตอบแทนที่รัฐได้จะเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาท แต่ต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท และมาตรการที่ออกมาตอนนี้ไม่ได้ปลดล็อคเรื่องทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เห็นด้วยเรื่องการขยายเวลาดื่ม ในเขตท่องเที่ยว เพราะจะมีผลต่อการดื่มของนักท่องเที่ยว แต่ไม่มีผลกับคนไทยมีโดยปกติจะมีงบประมาณจำกัดในการดื่มอยู่แล้ว แต่ถ้าจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆยังมีคำถามอยู่มาก
- การควบคุมด้วยข้อจำกัดด้านเวลา มีช่องทางที่ซิกแซกได้มาก ดังนั้นการควบคุมด้วยภาษีจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากกว่า โดยต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างภาษี ให้นำรายได้ที่เพิ่มขึ้น จ่ายไปให้เรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น
- เปิดให้โฆษณา ทำให้รายใหญ่ได้ผลเชิงบวกมากกว่ารายย่อย เพราะมีทุนพร้อมสามารถทำการตลาดได้หลากหลายได้มากขึ้น แต่รายย่อยจะได้โอกาสในฐานะที่ตัวเองจะมีที่ยืนที่จะจับกลุ่มลูกค้าตัวเองได้มากขึ้น
- หากจะใช้กลไก FTA กับเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องดูที่ดุลการค้าสุทธิด้วย ตอนนี้การส่งออกเกินดุลแค่เบียร์ ส่วนสุรา ไวน์ยังขาดดุล
- การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็ง จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี เพราะจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และนักท่องเที่ยวที่มีกำลังทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
น้ำเมากระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐขับเคลื่อน
รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวการจับจ่ายใช้สอย และส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ร้านอาหาร ตลอดจนบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ เช่น
- การลดภาษีนำเข้าไวน์ การลดภาษีสุราชุมชน
- การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกรุงเทพ จังหวัดชลบุรี จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- เตรียมการขยายเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเดิม 10 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 14 ชั่วโมงต่อวัน
- คาดการณ์ว่าจะมีการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น จากผู้ประกอบการ และคู่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ เช่น การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ การลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น0 ตามความตกลงเอฟทีไทย-อียู เป็นต้น
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 ที่ห้องโถง Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนา การกระตุ้นทางเศรษฐกิจกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เหตุผลทางเศรษฐกิจ และมุมมองทางสังคม จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (BioThai)
ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาท
ดร.เฉลิมภัทร พงศ์อาจารย์ คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า คาดการณ์ว่าถ้ามีการลดมาตรการทางการผลิตลง ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 45,000 ล้านบาท ส่วนต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นประมาณ 30000 ล้านบาท
หากลดภาษีนำเข้า จะทำให้ไวน์ระดับแมสโปรดักชั่นของโลก สามารถนำเข้ามาขายในประเทศไทยด้วยราคาที่ต่ำลง ยิ่งถูกไปอีก ส่วนอุตสากรรมไวน์ไทยก็จะสู้ไม่ได้ เหมือนเอาอุตสาหกรรมตั้งไข่ไปสู้อุตสาหกรรมที่มีมานาน 100-200 ปี
ปลดล็อคโฆษณารายใหญ่ได้ผลเชิงบวกมากกว่า
ในประเด็นที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีการโฆษณา เป็นการให้โอกาสรายใหญ่และรายย่อยมากขึ้น แต่รายใหญ่น่าจะได้ผลเชิงบวกมากกว่า เพราะมีเม็ดเงินที่สามารถทำการตลาดได้หลากหลายได้มากขึ้น แต่รายย่อยจะได้โอกาสในฐานะที่ตัวเองจะมีที่ยืนที่จะจับกลุ่มลูกค้าตัวเองได้มากขึ้น
เห็นด้วยขยายเวลาดื่มเมืองท่องเที่ยว
ในเรื่องขยายเวลาในการอนุญาตให้ดื่ม ดร.เฉลิมภัทร กล่าวว่า ค่อนข้างเห็นด้วยในเขตท่องเที่ยว เพราะการขยายเวลาดื่มไม่มีผลนักกับนักดื่มคนไทยที่จะมีงบประมาณจำกัดในการดื่มแต่ละครั้ง แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวหากไม่ติดกฎหมายเรื่องการกำหนดเวลาในการดื่ม ก็จะดื่มนานขึ้น เพราะติดพฤติกรรมมาจากที่บ้านเขา แต่หากจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆที่ไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยวยังมีคำถามอยู่มาก
ปรับโครงสร้างภาษี
ดร.เฉลิมภัทร กล่าวด้วยว่า การควบคุมด้วยข้อจำกัดด้านเวลา เป็นการใช้ดุลยพินิจ และมีช่องทางที่ซิกแซกได้มาก ดังนั้น การควบคุมด้วยภาษีจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากกว่า แต่จะต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างภาษี เพื่อให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาท ควรนำมาจ่ายไปในเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นนั้นมีต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาทด้วย
คุมน้ำเมาเข้ม ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพต่อเนื่อง
ขณะที่ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากที่ได้ทำงานวิจัยที่ดูเฉพาะเรื่องเบียร์ ในช่วง 1970-2019 พบว่า การบริโภคเบียร์ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลง นอกจากนี้ การที่มีการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคร่งครัด ทำให้เศรษฐกิจดี
ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2558 ออกกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตลดเวลาจำหน่ายให้เหลือ 4 ทุ่มครึ่ง ผับบาร์ให้นั่งดื่มถึง 5 ทุ่ม 59 นาที ส่วนต้นปี 2566 ได้กำหนดเพิ่มเติมหากร้านไม่ทำตามกฎหมายจะต้องจ่ายค่าปรับ ประมาณ 270,000 บาท ผูู้นั่งดื่มเกินเวลาจ่ายค่าปรับ เกือบ 30,000 บาท
เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าถ้าสภาพแวดล้อมของประเทศดี ไม่มีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และนักท่องเที่ยวที่มีกำลังทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
FTAน้ำเมาต้องดูดุลการค้าสุทธิ
ในมุมมองเรื่องของการค้าเสรี หรือ FTA ผศ.ดร.อริศรา ร่มเย็น เณรานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในนิยามทางเศรษฐศาสตร์นั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติ เป็นหมวดสินค้าฟุ่มเฟื่อย เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมกับหมวดของสินค้า
หากจะใช้กลไกเปิดFTA จะต้องศึกษาให้ครบและมีความพร้อมในทุกมิติ แม้ว่าจะขับเคลื่อนให้จีดีพีโตด้วยการพึงพาการค้าระหว่างประเทศ แต่ในมุมสาธารณสุขก็ต้องมีความพร้อมรองรับด้วย เพราะเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่ได้บอกว่า ให้จีดีพีโตอย่างเดียว แต่สังคมต้องมีความเสมอภาค กระจายรายได้ต้องเท่าเทียม
หมวดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากจะทำFTA ผู้ค้าจะแบ่งเป็นการส่งออกและนำเข้า ในส่วนการนำเข้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นความต้องการของผู้บริโภคจะมาจากโซนยุโรป มุมของการส่งออก พบว่า ไทยทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในพื้นที่เออีซีเป็นหลักทั้งไวน์และสุรา จะส่งไปทำตลาดยุโรปได้ในส่วนของเบียร์
อีกทั้ง การค้าระหว่างประเทศ ต้องดูดุลการค้าสุทธิด้วย ซึ่งดุลการค้าของไทยในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 ประเภท มีเกินดุลในส่วนของเบียร์ เพราะอุตสาหกรรมเบียร์ของไทยมีความเข้มแข็ง ส่วนไวน์และสุรายังมีสถานะของการขาดดุล
“เปิดFTAแล้ว ในส่วนของการส่งออก นำเข้า เพิ่มขึ้นก็จริง แต่รัฐบาลต้อมาดูดุลการค้าสุทธิด้วย ว่าเกินดุลหรือไม่ ถ้าขาดดุลก็ต้องมาคิดทบทวนใหม่ในตัวหมวดสินค้าที่กำลังจะตัดสินใจเรื่องFTA”ผศ.ดร.อริศรากล่าว
ยังไม่ปลดล็อคทุนผูกขาด
ท้ายที่สุด รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วงที่กำลังขับเคลื่อนสุราก้าวหน้าหรือสุราเสรี มีประเด็นตรงกันในแง่ของการขจัดหรือลดทุนผูกขาด ปลดล็อคให้รายย่อยเติบโต สร้างอาชีพ กับมิติการควบคุม เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าพิเศษ
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนนั้น ในแง่ของการลดทุนผูกขาด มองว่าจะเป็นการเพิ่มทุนผูกขาดที่ชัดเจน รายย่อยไม่ได้ประโยชน์มากนัก สิ่งที่รัฐกำลังขับเคลื่อนไม่ได้ไปปลดล็อคทุนผูกขาด
ส่วนเรื่องการควบคุมจะต้องพิจารณามิติอื่นๆที่นอกเหนือจากกลไกทางกฎหมาย เช่น กลไกทางสังคมหรือชุมชน อย่างการสร้างกติกาชุมชน เช่น ห้ามคนติดเหล้ากู้กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น