ปลดล็อก "คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" อย่าอ้างเศรษฐกิจเปิดเสรี

ปลดล็อก "คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" อย่าอ้างเศรษฐกิจเปิดเสรี

นักวิชาการประสานเสียงกฎหมายคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิมไม่สุดโต่ง ไม่ล้าหลัง ปรับแก้ใหม่ต้องไม่ด้อย ไม่เสรี โดยอ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรพิจารณาแยกประเภทใบอนุญาตให้ชัด และ“โฆษณา Total ban”

Keypoints:

  • ประเทศไทยมีการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ส่งผลดีต่อประชาชน ลดคนดื่ม อัตราการบริโภคลดลง
  • ปัจจุบันมีความพยายามนำเรื่องของการไฟเขียวเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และให้โฆษณาได้มากขึ้น มาใช้เป็นจุดกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจ มีการเสนอร่างปรับปรุงกฎหมายแล้ว 3 ร่างจาก 3 กลุ่ม
  • 16ปีผ่านไป จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ต้องไม่ด้อยกว่าเดิม มีข้อเสนอให้แยกประเภทใบอนุญาต และ“ห้ามโฆษณา เป็นแบบTotal ban”

ภายในงาน“ครบรอบ 16 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับสังคมไทย”  จัดโดยภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน

คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลที่เกิดขึ้น

 รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่าหลังมี พ.ร.บ.เมื่อปี 2551 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า

ปริมาณการบริโภคของผู้ดื่มค่อนข้างคงที่ไปในทางลดลง จากปี 2550 ผู้ดื่ม 30% ในประชากร ปี 2564 อยู่ที่ 28% ลดมา 2% ในเพศชายลดจาก 52% เหลือประมาณ 46% ลดลง 5.9% ส่วนเพศหญิงไม่ค่อยเปลี่ยน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางปี สัดส่วนนักดื่มอายุ 15-19 ปี และ 60 ปีขึ้นไปลดลง สัดส่วนนักดื่มอายุ 20-49 ปี ค่อนข้างคงที่

สำหรับปริมาณการดื่มจากกรมสรรพสามิต ก่อนมี พ.ร.บ. การเพิ่มขึ้นของการดื่มต่อคนต่อปีอยู่ที่ 0.18 ลิตรต่อคนต่อปี ถ้าไม่มี พ.ร.บ. ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังมี พ.ร.บ. แนวโน้มแม้ดูเพิ่ม แต่ปริมาณต่ำ เหลือ 0.02 ลิตรต่อคนต่อปี
ปลดล็อก \"คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์\" อย่าอ้างเศรษฐกิจเปิดเสรี

  • หวังใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนข้อมูลอุบัติเหตุช่วงปีใหม่และสงกรานต์ 7 วันอันตราย จากการถามข้อมูลคนไข้ที่เข้ามาห้องฉุกเฉินว่า ได้ดื่มแอลกอฮอล์มาหรือไม่ใน 6 ชั่วโมง พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 ลดลงเรื่อยๆ จาก 40% เหลือ 26% โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง 12.2% และช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง 9.5% แต่ที่ลดลงมากคือปี 2563 ช่วงโควิด

 “มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลไปไม่ค่อยได้ ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต หรือซอฟต์เพาเวอร์ จึงมาลงเรื่องแอลกอฮอล์ ที่ผ่านมามีการทำแล้วในส่วนของการปลดล็อกเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก่อนช่วงปีใหม่ และเปิดอยู่จยตอนนี้ใน 4-5 จังหวัด และกำลังมีความพยายามเสนอปลดล็อกเรื่องเวลาขาย จากที่ตอนนี้ให้ขาย 11.00 - 14.00 น. และ 17.00 - 24.00 น.  ให้ขายในช่วงเวลาอื่นๆได้มากขึ้น เพราะคิดว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ" รศ.นพ.อุดมศักดิ์กล่าว

เทียบ 3 ร่างเสนอปรับแก้พ.ร.บ.

       ดังที่กล่าวขณะนี้อยู่ในช่วงของการปรับแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พศ.2551 โดยเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีการเสนอกฎหมายปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 3 ร่าง ได้แก่  ร่างประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 หมื่นกว่ารายชื่อ ร่างประชาชนชาวสุรา ร่างพรรคก้าวไกล และร่างภปค.

บทสรุปที่ประชุมมีมติอนุญาตให้ครม.รับ 3 ร่างไปพิจารณา เพื่อที่จะประกอบการพิจารณาเป็นฉบับร่างกฎหมายของรัฐบาล  ส่วนร่างของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ยังไม่เข้ามา

ธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ภปค.)  กล่าวว่า  3 ร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามามีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่จะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง  ประกอบด้วย

 1.กลไกคณะกรรมการ  

ร่างประชาชนชาวสุราที่เป็นกลุ่มสุราไทย กลุ่มสมาคมคราฟต์เบียร์และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย   ให้เพิ่มผู้แทนธุรกิจเป็นที่ปรึกษา ลดอำนาจ ตัดผู้แทนองค์กรสาธารณประโยชน์ ร่างพรรคก้าวไกล ตัดคณะกรรมการทุกระดับทั้งที่กฎหมายอื่นที่พรรคเสนอ กลับให้มีคณะกรรมการถึงระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการนี้ให้ยกเลิกคณะกรรมการทั้งหมด

 ร่างภปค.ให้ปรับองค์ประกอบ เพิ่มอำนาจคณะกรรมการให้มีการจัดสมัชชาระดับพื้นที่ 

2.การควบคุมสถานที่ วันเวลา และรูปแบบการดื่ม การขาย

ร่างประชาชนชาวสุรา ให้ขายในร้านค้า หรือสโมสรในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติได้ และส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถมได้ ณ จุดขาย  ยกเลิกการกำหนดเวลาขยาย เท่ากับขายได้  24 ชั่วโมง ยกเลิกการออกมาตรการใหม่เกี่ยวกับสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขาย และวิธีการ

ร่างพรรคก้าวไกล ยกเลิกมาตรา 28 เรื่องวัน เวลา ห้ามขาย แปลว่าให้ขายได้ 24 ชั่วโมง ยกเลิกกรณีห้ามขายวันพระ ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่ยืนยันตัวผู้ซื้อได้ ให้ลดราคาได้ เพิ่มให้ดื่มได้ในโรงแรม ที่อยู่ในสถานศึกษา และให้ดื่มในสวนสาธารณะได้

ร่างภปค.เพิ่มการตรวจอายุของผู้ซื้อ กำหนดหน้าที่ของผู้ขาย ห้ามขายผ่าน..คข.คอมพิวเตอร์ เพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา ร้านค้าที่ทำผิดกฎหมาย เพิ่มสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแกผู้เสียหายจากอุบัติเหตุ ให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค และเปลี่ยนโทษทางอาญาเป็นโทษทางปกครอง
ปลดล็อก \"คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์\" อย่าอ้างเศรษฐกิจเปิดเสรี

3.การโฆษณา

 ร่างประชาชนชาวสุรา ห้ามมิให้ผู้โดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ แปลว่าให้โฆษณาได้เสรี 

ร่างพรรคก้าวไกล ห้ามมิให้ผู้ประกอบการผลิตหรือจำหน่ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

ร่างภปค. โฆษณาได้ภายใต้เงื่อนไขให้ระบบการขออนุญาตก่อนการโฆษณา ลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ควบคุมตราเสมือน ให้ทุนสนับสนุนได้บางกรณี แต่ห้ามโฆษณา และแยกโทษคนทั่วไป ผู้ผลิต สื่อ


ข้อเสนอคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากปรับใหม่

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ข้อเสนอมาตรการควบคุม คือ 1.ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่ใช่แค่จะได้ดื่มหรือโฆษณา แต่พูดถึงเสรีภาพและสิทธิที่ะจได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มอย่างรอบด้าน รวมถึงผลกระทบและผลการลดปัญหาจากมาตรการต่างๆ

2.มาตรการควบคุมทั้งหลายของประเทศไทยอยู่บนหลักการเดียวกันกับคำแนะนำระดับสากล

และ3. มาตรการอะไรก็ตามที่ได้ผล คนจะไม่ค่อยชอบ มาตรการที่คนชอบมักไม่ค่อยได้ผล อย่างเช่น เรื่องดื่มอย่างรับผิดชอบ ไม่ค่อยได้ผล แต่มาตรการภาษี จำกัดการโฆษณา การขาย คนไม่ค่อยชอบ แต่ได้ผล จึงต้องยอมรับว่ามาตรการควบคุมที่ได้ผลมีส่วนในการจำกัดเสรีภาพอยู่ด้วย แต่มาตรการไม่ได้มุ่งเพื่อจำกัดเสรีภาพ เป้าหมายเพื่อส่งเสริมประชาชนภาพรวมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

ควรปลอดจากอิทธิพลภาคธุรกิจ

ศ. เจเก้น รีม ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ควรปลอดจากอิทธิพลของภาคธุรกิจ การอ้างเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจแอลกอฮอล์จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะภาพที่แท้จริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้น หากมีการผ่อนปรนการควบคุมมากเกินไปก็จะส่งผลเสีย

ที่สำคัญคือการให้ซื้อแอลกอฮอล์ได้ตอนตีสี่ครึ่ง ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน และไม่ใช่เสรีภาพ แต่สิทธิที่ควรมีการพูดถึงคือการปกป้องชีวิตของทุกคนจากปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนา จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก สังคมจึงต้องร่วมกันปกป้องโดยมีกฎหมาย หรือมาตรการควบคุมการสื่อสารการตลาด การโฆษณา โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียเข้าถึงกลุ่มเยาวชน”ศ.เจเก้นกล่าว  

ปลดล็อก \"คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์\" อย่าอ้างเศรษฐกิจเปิดเสรี
แยกประเภทใบอนุญาต

มุมมองเรื่องสถานการณ์นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ บอกว่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยไม่สุดโต่ง สิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนา คือ

1.ระบบใบอนุญาต จะต้องแยกประเภทใบอนุญาตตามความเสี่ยงในการก่อผลกระทบ เป็นแบบที่มีนั่งดื่ม(On premise) และไม่มีที่นั่งดื่ม(Off premise) เพราะว่าทำให้เกิดปัญหาในรูปแบบความเสี่ยงที่แตกต่าง ถ้าใบอนุญาตแบบนั่งดื่ม ก็ต้องมีระบบว่าดื่มแล้วหากเดินทางกลับบ้านจะต้องทำแบบไหน อย่างไร  และจะลดความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจด้วย คนที่มีทุนสูง ค่าธรรมเนียม โทษก็ต้องตามไปด้วย

และ2.การควบคุมกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ผลดีที่สุด ในการลดผลกระทบจากการได้รับสื่อการตลาดในกลุ่มอ่อนไหว เช่น เด็ก วัยรุ่น ผู้ดื่ม ผู้ติดสุรา คือ Total ban  ซึ่งทั่วโลกมี 26 ประเทศที่ห้ามแบบนี้แล้ว แต่หากยังดำเนินการไม่ได้ ก็ให้ใช้การระบุรายการกิจกรรมการตลาดที่ควรจำกัดให้ชัดเจนและอัพเดตให้ทันสมัยได้เสมอ หรือกำหนดรายการกิจกรรมการตลาดที่สามารถทำได้

“กฎหมาย มาตรการที่ดีอยู่แล้วควรจะคงไว้ และเห็นด้วยควรจะแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะ ส่วนที่ภาษาไม่ชัดเจน เช่น ห้ามโฆษณา ควรแก้ไขให้ลดการตีความลง ส่วนที่เป็นสากลควรยกระดับ แต่เนื้อหาต้องไม่ถอยหลังและอ่อนแอไปกว่าเดิม” ดร.ภญ.อรทัยกล่าว


นอร์เวย์คุมเข้มดื่ม-โฆษณา

ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลทุกประเทศจึงต้องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะให้เสรีไม่ได้ หากปล่อยเสรีจะทำให้การบริโภคของคนจะสูงกว่าระดับที่มีประสิทธิภาพ  ดังนั้นรัฐต้องควบคุม เก็บภาษีให้สูง ต้องมีกฎหมาย ให้มีหลายมาตรการควบคู่กัน เพื่อให้มั่นใจว่าการบริโภคของประชาชนจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีประสิทธิผล

ประเทศเสรีอย่างนอร์เวย์ ห้ามดื่มในที่สาธารณะ ห้ามโฆษณาทุกแบบ เก็บภาษีสูงมาก มีการควบคุมการขาย โดยวันจันทร์-ศุกร์ ขายได้ถึง 2 ทุ่ม วันเสาร์ ปิด 18.00 น. วันอาทิตย์ ห้ามจำหน่าย และวันหยุด โดยเฉพาะวันหยุดสำคัญทางศาสนาห้าม จะเข้มงวดมาก

เป็นมาตรการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1900 แม้มีคนอยากเปลี่ยนแปลง แต่นักการเมืองและประชาชนบอกว่าไม่ได้ เพราะถ้าผ่อนคลายมากขึ้น จะทำให้นอร์เวย์ซึ่งมีจีดีพีต่อหัวสูง พัฒนาทางเศษฐกิจดี จะไม่เป็นแบบนี้ จะกลับไปเป็นแบบเดิมก่อนที่จะควบคุม คือ  ประชาชนเป็นโรคจากการบริโภคสุรา  เมื่อควบคุมแล้วสังคมสงบ คนมีความสุข แล้วจะเปลี่ยนทำไม

 “การควบคุมของไทยเริ่มปี 2475 มีกฎหมายในปี 2551 จะบอกว่าล้าหลังไม่ได้ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองว่า บางเรื่องถ้ามันดีอยู่แล้ว ต่อให้จะทำมานานแค่ไหน ก็ไม่ได้เป็นการล้าหลัง ของดีก็ต้องรักษาไว้ ของไม่ดีก็ต้องเลิก อะไรที่ดีอยู่แล้วคงแปลกที่จะไปเลิก” ผศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว