บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดี สะท้อนคนจนเยอะ-ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแย่ลง
หลังโควิด-19 ก็ยังขายดี! สื่อนอกวิเคราะห์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดี เป็น “Red flag” ทางเศรษฐกิจ แม้แต่ประเทศร่ำรวยอย่าง “สหรัฐ-อังกฤษ” ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มองเป็นสัญญาณความเปราะบาง ภาคครัวเรือนอ่อนไหวต่อราคาอาหารที่สูงขึ้น
บะหมี่สำเร็จรูปถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1950 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยืดเยื้อมานาน ทำให้ “ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพิษสงครามมากที่สุด ประชาชนต้องเผชิญกับความยากจน-ขาดแคลนอาหารกันถ้วนหน้า กระทั่ง “โมโมฟูกุ อันโด” (Momofuku Ando) คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมา อาหารที่ได้ชื่อว่า เป็นอาวุธอันทรงพลังในการต่อสู้กับความอดอยาก จนในเวลาต่อมา “อันโด” ได้ก่อตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า “นิชชิน” (Nissin) ในฐานะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรกของโลก
ปัจจุบัน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็นอาหารของคนหลากหลายกลุ่ม บ้างก็กินเพื่อความอร่อย เพื่อความรวดเร็วในชั่วโมงเร่งรีบ และบางครั้งผู้คนก็เลือกกินเพราะราคาถูกแต่ให้ความอิ่มได้นาน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นมาตรวัดทางเศรษฐกิจและสังคมไปด้วย เพราะแม้จะมีรสชาติดี แต่คุณค่าทางโภชนาการของมันกลับไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากนัก หากไม่ได้มีความจำเป็น หลายคนจึงหลีกเลี่ยงที่จะบริโภคอาหารที่ประกอบไปด้วยเกลือและผ่านการแปรรูปมาหลายขั้นตอน
สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ (Financial Times) รายงานตัวเลขการเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปี 2565 ผู้คนทั่วโลกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมกันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนมากถึง “121,000 ล้านถ้วย” เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราว 17% โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่าง ไนจีเรีย บังกลาเทศ และตุรกี พบว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ทำให้ราคาข้าวของปรับตัวสูงขึ้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นอาหารที่เข้ามาตอบโจทย์ด้วยราคาที่ไม่แพง และมีจำนวนแคลอรีมากพอที่จะทำให้อิ่มท้องได้
อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งก็พบว่า แนวโน้มการเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้มาจาก “ความยากจน” เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนออกจากบ้านน้อยลง หลายคนไม่ได้ทำอาหารกินเองตั้งแต่แรก ระหว่างปี 2563 ถึง 2564 ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับการล็อกดาวน์ ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเพิ่มขึ้นด้วย โดย “ไฟแนนเชียล ไทม์” ระบุว่า เรื่องนี้สะท้อนผ่านผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่แม้ปัจจุบันจะพ้นช่วงโควิด-19 มาแล้ว แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งอยู่ดี
ทั้งนี้ จุดที่นำไปสู่ภาพสะท้อนของ “Red flag” หรือ “ธงแดงทางเศรษฐกิจ” เกิดจากการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกลุ่มประเทศร่ำรวยที่สูงขึ้น ปี 2565 ทั้งใน “สหรัฐ” และ “อังกฤษ” มีสัดส่วนการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นราว 14% เมื่อเทียบกับสถิติในรอบ 5 ปี ก่อนหน้า ด้าน “ญี่ปุ่น” ที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมานานหลายทศวรรษ ได้สร้าง “New High” การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากที่เคยทำไว้สูงมากในปี 2561 ทว่า ปี 2565 กลับสูงขึ้นอีก สวนทางกับตัวเลขจำนวนประชากรที่ลดน้อยลง
“ไฟแนนเชียล ไทม์” ระบุว่า ขณะนี้ภาคครัวเรือนสหรัฐอ่อนไหวกับราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอันเปราะบาง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมีพฤติกรรม “ซื้อของตุน” จากร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยอาหารที่เลือกซื้อก็รวมไปถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เก็บไว้ได้นาน เพื่อเป็นการป้องกันราคาอาหารที่อาจจะปรับตัวขึ้นอีกในไม่ช้า
ด้านโฆษกของ “นิชชิน” ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การเติบโตของ “นิชชิน” ในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องน่ายินดีนัก แม้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะทำหน้าที่ในฐานะ “Resilience product” หรืออาหารที่มีความยืดหยุ่นให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนถึงสัญญาณความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่กำลังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
อ้างอิง: Financial Times