'มนพร' ตรวจท่าเรือเชียงแสน คุมเข้มมาตรฐานส่งออกสัตว์มีชีวิต

'มนพร' ตรวจท่าเรือเชียงแสน คุมเข้มมาตรฐานส่งออกสัตว์มีชีวิต

“มนพร” ลงพื้นที่ตรวจท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย คุมเข้มมาตรฐานการส่งออกสัตว์มีชีวิต คาดสร้างรายได้ให้ท่าเรือปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มเเม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐานสากล เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ระหว่าง 4 ประเทศ คือ ไทย จีน สปป.ลาว และเมียนมา โดยติดตามการบริหารจัดการและความคืบหน้าการส่งออกสัตว์มีชีวิต รวมถึงเป็นสถานที่ใช้ลำเลียงปศุสัตว์เพื่อการส่งออก

นางมนพร กล่าวว่า โครงการสัตว์ส่งออกท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ผ่านที่ ทชส. ในพื้นที่ 1 บริเวณพื้นที่ท่าเรือแนวลาดฝั่งทิศใต้ ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2567 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ปริมาณสัตว์ส่งออกสุกร 15,000 ตัวต่อเดือน หรือ 180,000 ตัวต่อปี โค กระบือ จำนวน 5,000 ตัวต่อเดือน หรือ 60,000 ตัวต่อปี ส่งผลให้ ทชส. มีรายได้จากการดำเนินโครงการฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท

\'มนพร\' ตรวจท่าเรือเชียงแสน คุมเข้มมาตรฐานส่งออกสัตว์มีชีวิต

ทั้งนี้ การส่งออกสัตว์มีชีวิตผ่านที่ ทชส. ต้องปฏิบัติตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขนถ่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผู้ประกอบการต้องทำนัดหมายช่วงเวลาในการขนถ่ายสัตว์ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การล้างสิ่งปฏิกูลและฉีดยาฆ่าเชื้อ การขนย้ายโดยมีที่กั้นที่แข็งแรง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ช่วยขนสัตว์ขึ้นลง รวมทั้งการทำความสะอาดจุดขนถ่ายสัตว์ เมื่อดำเนินการขนถ่ายแล้วเสร็จ เป็นต้น

“ปัจจุบัน​โครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนได้เริ่มดำเนินการแล้ว​ โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง​กรมเจ้าท่า​และการท่าเรือฯ​ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม​ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือและอำเภอเชียงแสนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากร เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางมนพร กล่าว

\'มนพร\' ตรวจท่าเรือเชียงแสน คุมเข้มมาตรฐานส่งออกสัตว์มีชีวิต

จากนั้นนางมนพรได้เดินทางไปติดตามการพัฒนาด้านคมนาคมทางน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและความคืบหน้าโครงการขุดลอกต่างตอบแทนพื้นที่ภาคเหนือ โครงการขุดลอกแม่น้ำในประเทศ (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) รวมทั้งร่องน้ำเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเดินเรือ การอุปโภคบริโภค และเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ในภาคการเกษตร โครงการก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางเข้า-ออก ราชอาณาจักรด้วยเรือผ่านจุดผ่านแดนถาวร สามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567

นางมนพร กล่าวด้วยว่า หลังการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบความคืบหน้าปัญหา อุปสรรค และผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านความสะดวก ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ภายใต้มาตรฐานการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและความปลอดภัยสูงสุด

\'มนพร\' ตรวจท่าเรือเชียงแสน คุมเข้มมาตรฐานส่งออกสัตว์มีชีวิต