คาร์บอนเครดิต โอกาสยกระดับรายได้อุตสาหกรรมยางพาราไทย

คาร์บอนเครดิต โอกาสยกระดับรายได้อุตสาหกรรมยางพาราไทย

ไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยต้องเผชิญกับปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้รายได้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการยางพาราลดลงตามไปด้วย

เพื่อที่จะยกระดับรายได้ผู้ประกอบการและเกษตรกรยางพารา รวมทั้งช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ภาครัฐจึงได้มีโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง และอนาคตมีแผนที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ประกอบการและเกษตรกรสวนยางที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งพื้นที่สวนยางที่นำร่อง ได้แก่ พื้นที่สวนยางในเขตจังหวัดระยอง และคาดว่าในปี 2567 จะมีสวนยางที่เข้าร่วมโครงการนี้ ประมาณ 20,000 ไร่ คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ หากผู้ประกอบการและเกษตรกรสวนยางทำการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราอย่างไรบ้าง?
 

ประการแรกช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นให้กับเกษตรกรสวนยางพารา จากการดำเนินโครงการเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตและขายคาร์บอนเครดิต โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากรัฐมีนโยบายในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการขอรับรองคาร์บอนเครดิตทั้งหมด  ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีพื้นที่สวนยางประมาณ 1,000 ไร่ และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีพื้นที่สวนยางพาราประมาณ 100 ไร่ จะมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 6.2% ส่วนกรณีที่รัฐไม่มีการสนับสนุน ผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 4.8%  ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 1.1% 

ประการที่สอง ช่วยการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร  ผู้ประกอบการแปรรูปยางกลางน้ำและปลายน้ำที่มีสวนยางพาราที่เข้าร่วมโครงการ T-Ver สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการผลิต เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เป็นต้น ภายในองค์กร ก่อนที่จะนำคาร์บอนเครดิตส่วนที่เหลือไปขายให้กับองค์กรอื่นที่ต้องการ

อนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่มีพื้นที่สวนยางที่มีหนังสือแสดงสิทธิ์การครอบครองที่ดิน ต้องการที่จะขายคาร์บอนเครดิต ควรเริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ภาคเกษตรมาตรฐานไม้ผลไม้ยืนต้น หลังจากนั้นผู้ประกอบการและเกษตรกรจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาโครงการและขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้

โดยสรุปแล้ว โครงการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการและเกษตรกรสวนยางเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ถึงโอกาสทางธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการ T-VER และได้รับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้ เงินทุน รวมทั้งควรมีแนวทางในการสนับสนุนในระยะยาว เช่น การสนับสนุนการรวมกลุ่มสวนยางพาราในพื้นที่เพาะปลูกยางพาราหนาแน่น เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย ตลอดจนร่วมมือกับสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการยางพาราที่สนใจ เป็นต้น