‘เศรษฐา‘ บูมการบินภาคเหนือ ดันพะเยาแอร์พอร์ต- อัพเกรดสนามบินแม่ฟ้าหลวง

‘เศรษฐา‘ บูมการบินภาคเหนือ ดันพะเยาแอร์พอร์ต- อัพเกรดสนามบินแม่ฟ้าหลวง

นายกฯ ยกระดับพะเยา จากเมืองรองเป็นเมืองหลัก หนุนสร้างสนามบิน ลุ้น ครม.สัญจร เคาะงบ 100 ล้าน ศึกษาอีไอเอ สร้างเฟสแรก เปิดปี 77 ใช้งบรวม 4 พันล้านบาท ทาบแอร์เอเชีย-บางกอกแอร์เวย์ ททท.หนุนรับเที่ยวบินขนาดเล็ก “สุริยะ” เร่งแผนพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง เพิ่มศักยภาพรับผู้โดยสาร

KEY

POINTS

  • นายกฯประกาศยกระดับพะเยา จากเมืองรองเป็นเมืองหลัก หนุนศึกษา-ทำEIA สนามบินพะเยา
  • คาดเฟสแรก เปิดปี 77 ใช้งบรวม 4 พันล้านบาท 
  • สุริยะ เร่งแผนพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง ดันโครงการเอ็มอาร์โอรองรับการขยายตัวธุรกิจการบิน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 จังหวัดพะเยา วันที่ 19 มี.ค.2567 ซึ่งจะพิจารณาข้อเสนอหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 (พะเยา น่าน แพร่ เชียงราย)

ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการและหารือแผนพัฒนาพื้นที่สนามบินจังหวัดพะเยา ที่ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับนายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และผู้บริหารส่วนราชการร่วมต้อนรับนายกรัฐมนตรี

‘เศรษฐา‘ บูมการบินภาคเหนือ ดันพะเยาแอร์พอร์ต- อัพเกรดสนามบินแม่ฟ้าหลวง

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาดูพื้นที่พัฒนาสนามบินพะเยาที่จะศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งถ้าติดตามนโยบายรัฐบาลหลายด้าน จะเห็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุด คือ การยกระดับเมืองรองเป็นเมืองหลัก โดยปัจจัยสำคัญในการทำให้เมืองรองเป็นเมืองหลักอยู่ที่การคมนาคม  ซึ่งสนามบินถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด 

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้นำหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งต้องศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลผลประโยชน์ความคุ้มค่าในการลงทุน และรัฐบาลจะพยายามเต็มที่

“พะเยามีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม สิ่งแรกที่ผมเองเห็นตอนเดินทางมาดอกคำใต้ คือ ดอกคำใต้ที่เป็นดอกไม้สวยงาม รวมถึงพะเยามีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และเชื่อว่าองค์ประกอบในการยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลักทุกอย่างมีความพร้อม"

รวมทั้งต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวพะเยาให้มากขึ้น เพื่อรองรับความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบิน ซึ่งขอให้ชาวพะเยาอดใจรอเพราะรัฐบาลจะศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อใช้เงินภาษีจากประชาชนให้เหมาะสม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและจะใช้งบประมาณปี 2567 และต้องดูโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารด้วย

‘เศรษฐา‘ บูมการบินภาคเหนือ ดันพะเยาแอร์พอร์ต- อัพเกรดสนามบินแม่ฟ้าหลวง

เปิดแผนพัฒนาสนามบิน3ระยะ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดตั้งสนามบินพะเยาจะทำให้ผู้เดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่สำคัญของประเทศ

ทั้งนี้ การก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา มีพื้นที่ 2,813 ไร่ ค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ 1,700 ล้านบาท และประมาณการค่าก่อสร้างรวม 2,201 ล้านบาท มีแผนพัฒนาสนามบินเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะ 10 ปีแรก จะเปิดให้ใช้บริการในปี 2577 ตามความต้องการใช้ท่าอากาศยาน 78,348 คนต่อปี และในปี 2587 ความต้องการจะเพิ่มเป็น 94,920 คนต่อปี ซึ่งสอดคล้องปริมาณความต้องการใช้เครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งเหมาะสมกับขนาดลานจอดเครื่องบินและรันเวย์สนามบินพะเยา

ระยะที่ 2 ปี 2587-2597 รองรับความต้องการใช้สนามบินปีละ 230,213 คน และรองรับเครื่องบิน A320 B737

ระยะที่ 3 ปี 2597-2607 รองรับความต้องการใช้สนามบินปีละ 324,969 คน และรองรับเครื่องบิน A320 B737

นอกจากนี้ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาพะเยาขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2552-2562 มีผู้มาเยี่ยมเยือนเฉลี่ยต่อปี 486,679 คน และเติบโตปีละ 11.15% ซึ่งการมาพะเยาต้องใช้สนามบินใกล้เคียง ได้แก่ สนามบิแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ห่างจากพะเยา 89 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 30 นาที

ของบทำอีไอเอ100ล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกตำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นจุดสร้างสนามบินมีสนามบินเกือบ 3,000 ไร่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาจะเสนอ ครม.ขอใช้งบประมาณศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวม 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่ศึกษาเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2564

ทั้งนี้พะเยาเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ไม่มีสนามบิน จึงหารือนายกรัฐมนตรีทำให้ลงมาดูพื้นที่เพื่อช่วยชาวพะเยา 5 แสนคน เดินทางสะดวกกว่าไปสนามบินเชียงราย สนามบินลำปาง สนามบินน่าน และสนามบินแพร่ รวมถึงเชื่อมการเดินทางกับลาวและเมียนมาได้

นอกจากนี้ ได้หารือกับสายการบินไทยแอร์เอเชียและบางกอกแอร์เวยส์ถึงการจัดเที่ยวบินมาลงพะเยา ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีความพยายามสร้างสนามบินในจุดที่ไม่เหมาะสม เช่น หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา โดยไม่มีความพร้อมในการจอดและการวิ่งของเครื่องบิน และกระทรวงคมนาคมเห็นว่าพื้นที่ดอกคำใต้เหมาะสม

ททท.ชี้หนุนท่องเที่ยวพะเยา

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวในประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนพะเยาขอให้ ททท.สนับสนุนการสร้างสนามบิน เพื่อให้มีเที่ยวบินมาลงจะสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยตัวชี้วัดความสำเร็จของสนามบินอยู่ที่มีสายการบินมาให้บริการ 

สำหรับเที่ยวบินที่เหมาะสมอาจไม่ใช่เครื่องบินขนาดใหญ่ แต่อาจเป็นเครื่องบินขนาดเล็กในลักษณะเหมือนบางสายการบินที่เปิดเส้นทางการบิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเชื่อมการเดินทางกับสงขลาและปีนัง ซึ่งเป็นการทำเส้นทางการบินที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากการท่องเที่ยวในพื้นที่และกลุ่มจังหวัดยังส่งเสริมการเดินทางมารักษาพยาบาลและรับบริการทางการแพทย์

นางพัฒน์ชญา จิตราพันธ์ทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ภาคเอกชนพะเยาจะเสนอให้ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ขอให้รัฐบาลผลักดันเป็นศูนย์กลางการแพทย์ เพราะพะเยาอยู่กลางกลุ่มจังหวัดที่เดินทางเชื่อมโยงไปจังหวัดอื่นสะดวก เช่น น่าน เชียงรายและแพร่

นอกจากนี้พะเยาติดต่อ สปป.ลาว โดยด่านชายแดนบ้านฮวก-กิ่วหก ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา มีอาณาเขตติดกับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งมีคนจาก สปป.ลาวเดินทางข้ามมาพะเยา รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่เดินทางมาพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งมหาวิทยาลัยพะเยามีคณะแพทย์ศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ และมีโรงพยาบาลจังหวัดขนาด 300 เตียงที่พร้อมขยายเป็นโรงพยาบาลขนดใหญ่

“คมนาคม”อัพเกรดสนามบินแม่ฟ้าหลวง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม ครม.สัญจร โดยติดตามการเพิ่มศักยภาพสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล ซึ่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยมีแผนดำเนินการ ดังนี้

1.งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือและปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B 2.งานจ้างก่อสร้างพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21

3.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance ,Repair and overhaul (MRO) กำลังทำ EIA 4.งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า- ออกสนามบิน จะเริ่มก่อสร้างเดือน มิ.ย.2567

นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาท่าสนามบินระยะที่ 1 (2568-2571) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 6 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 2 (2576-2578) เพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างเพิ่มลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น