'กฟผ.' แนะรัฐคิดค่าไฟปีละครั้ง เอื้อเอกชนคิดต้นทุนตามจริง ลดภาระประชาชน
"เทพรัตน์" ผู้ว่ากฟผ. คนใหม่ เสนอเคาะค่าไฟปีละ 1 ครั้ง เพื่อเอกชนจะได้คำนวณต้นทุนได้ง่ายและลดภาระปชช. ชี้ไฟหักลบกลบหน่วยไม่เหมาะตอนนี้ ไม่เป็นธรรมกับคนทั้งประเทศ หวังได้ค่า Ft คืนตามกำหนด เพื่อวางแผนบริหารองค์กรได้ง่ายขึ้น
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1.รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ 4.ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ และ 5.เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ
"กฟผ. ถือเป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ"
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะคำนวณต้นทุนที่สูงที่สุดของปีไว้เป็นฐานและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง
"หากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่งอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน"
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือนพ.ค. - ส.ค. 2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยกฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวดงวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ คาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารสภาพคล่องของกฟผ. ซึ่งจะได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและมีทิศทาง โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบันกฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ
สำหรับข้อเสนอ Net Metering หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง จากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้านั้น ในมุมของกฟผ. มองว่ายังไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับไทยเวลานี้ เพราะจะเป็นภาระกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์แต่กลุ่มนี้ต้องรับภาระการลงทุนระบบไฟฟ้าทั้งหมด เพราะสุดท้ายหากผู้ใช้ ระบบดังกล่าวเกิดปัญหาก็ต้องกลับมาใช้ไฟจากระบบสายส่งหลัก แต่ไม่ต้องรับภาระส่วนนี้