‘เกรียงไกร’ จ่อนั่งประธาน ส.อ.ท.สมัย 2 โชว์นโยบายหนุน ‘เอสเอ็มอี-อีวี’
ส.อ.ท.เปิดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 67 จับตาเลือกตั้งกรรมการวาระปี 67-69 จำนวน 244 คน เผยผู้มาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ ก่อนลงคะแนนเลือกประธาน ‘เกรียงไกร’ ได้คะแนนกรรมการนำ ‘สมโภชน์’ กำหนดประชุมวันที่ 23 เม.ย.67
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดประชุมใหญ่ประจำปี 2567 เพื่อลงคะแนนเลือกกรรมการวาระปี 2567-2569 ประเภทเลือกตั้ง 244 คน ในวันที่ 25 มี.ค.2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทั้งนี้ มีสมาชิก ส.อ.ท.จำนวนมากเดินทางมารอลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 05.00 น.จนกระทั่งเวลา 09.30 น.ยังมีสมาชิกต่อคิวลงทะเบียนเข้าร่วมงานหนาแน่น โดย ส.อ.ท.รายงานว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ 2,700 คน มากสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังเป็นผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการที่เดินทางมาด้วยตนเอง
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้เสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.รวม 2 คน ประกอบด้วย 1.นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. และ 2.นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท.และ CEO บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.กล่าวหลังการปิดหีบเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวของซีอีโอและเจ้าของกิจการจากทั่วประเทศที่เดินทางมาลงคะแนนเอง ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ที่จะเลือกนายเกรียงไกร แต่เชื่อว่าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมออกมาปกป้อง ส.อ.ท.และธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาตั้งแต่ที่เปิดสภาฯ ที่ควรให้กรรมการดำรงตำแหน่ง 2 วาระ หรือ 4 ปี จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนงาน
สำหรับผลการเลือกตั้งพบว่าผู้สนับสนุนนายเกรียงไกรผ่านการเลือกตั้งเป็นกรรมการเข้ามามากกว่านายสมโภชน์ ซึ่งจะทำให้นายเกรียงไกรมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท.สมัยที่ 2
ส่วนกรรมการประเภทแต่งตั้ง 122 คน ได้แต่งตั้งเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เดือน ก.พ.2567 แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม 46 คน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 77 คน โดยกรรมการ ส.อ.ท.ทั้งหมด 366 คน จะประชุมภายใน 30-45 วัน โดยกำหนดการคาดว่าจะเป็นวันที่ 23 เม.ย.2567 เพื่อลงคะแนนเลือกประธาน ส.อ.ท.
นายเกรียงไกร กล่าวว่า โครงการสำคัญและจะขับเคลื่อนต่อไป คือ การยกระดับและปรับโครงสร้างภาคการผลิต โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสินค้าของคนไทย รวมทั้งผลักดัน BCG และ S-Curve เพื่อให้ไทยรักษาความสามารถในการเป็นฐานผลิต และเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนระดับโลก อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
รวมทั้งโครงการเรือธงปี 2566 จะตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation One) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของสมาชิกที่เป็นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี และ ส.อ.ท.สมทบเข้ากองทุนอีก 1,000 ล้านบาท รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าจะกระจายการให้ทุนสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัปและเอสเอ็มอีภายใน 3 ปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้วยการคิดไอเดียใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาด้านพลังงานสะอาด และแนวคิด BCG
สำหรับประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนซึ่งไทยมีค่าไฟแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งนั้น ยังเป็นประเด็นที่จะผลักดันต่อเนื่องในการพูดคุยกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อาทิ การปรับโครงสร้างและปรับสูตรแหล่งเชื้อเพลิง ให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว
นายสมโภชน์ กล่าวก่อนการลงคะแนนว่า การประชุมวันนี้ถือว่ามีบรรยากาศที่ดี มีความคึกคักในการเลือกตั้งและสมาชิกมีความตื่นตัว สิ่งเหล่านี้น่าจะนำพาให้ส.อ.ท.เดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแรงและเป็นที่น่าเชื่อถือของสาธารณชนและรัฐบาลในอนาคต
“การเลือกตั้งถือเป็นการแข่งขันด้านความคิดและนโยบาย เป็นการระดมความเห็น โดยไม่วิจารณ์ผู้อื่น ทุกคนเป็นมืออาชีพ เชื่อว่าบรรยากาศการแข่งขันหลังจบการเลือกตั้งมีบทสรุปชัดเจนจะผ่านไป ไม่ใช่ความขัดแย้งแตกแยก หากใครมีอุดมการณ์ที่ดีควรนำไปใช้ต่อ”