‘ไทย‘รับคลื่นลงทุนใหญ่รอบ 30 ปี ลุ้น ’ส่งเสริมลงทุน’ 66-70 ทะลุ 3 ล้านล้าน
“บีโอไอ” แจงผลโรดโชว์ 6 เดือน นายกฯ สร้างเงินลงทุน 5.58 แสนล้าน อุตสาหกรรมมาแรง ทั้งแบตเตอรี่เซลล์ อิเล็กทรอกนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์ บริษัทข้ามชาติตัดสินใจลงทุนจริง ชี้เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ เวเฟอร์โรงงานแรกปักหลักไทย เผยเป้าส่งเสริมลงทุนปีนี้ 8 แสนล้านคาด 5 ปีทะลุ 3 ล้านล้าน
KEY
POINTS
- “บีโอไอ” แจงผลโรดโชว์ 6 เดือน นายกฯ คาดสร้างเงินลงทุน 5.58 แสนล้าน
- อุตสาหกรรมที่มาแรงในปีนี้ที่จะมาลงทุนในไทย แบตเตอรี่เซลล์ อิเล็กทรอกนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์
- เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำเวเฟอโรงงานแรกปักหลักไทย ดึงผลิตชิปต้นน้ำ ศูนย์ทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ 2 หมื่นล้าน จ้างงานหลายพันตำแหน่ง
- บีโอไอตั้งเป้าส่งเสริมลงทุนปีนี้ 8 แสนล้านปี 66 - 70 ทะลุ 3 ล้านล้าน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวน 14 ประเทศ พบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง โดยการเดินทางสำคัญในการนำเสนอวิสัยทัศน์ เจรจาด้านความร่วมมือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ และเข้าร่วมเวทีสำคัญระดับโลก
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากการเข้าร่วมประชุมตามวาระงานแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้เข้าพบภาคธุรกิจต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ชักชวนการลงทุน และกระชับความร่วมมือกับประเทศไทย ทั้งการพบปะผู้บริหารระดับสูง การนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสมาคมธุรกิจและหอการค้าชั้นนำ
ตลอดจนจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว และการเกษตรที่มีสัดส่วนรวมอยู่ที่ 70%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ทั้งนี้ประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านทั้งเรื่องของไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีการเดินหน้ากว่า 1 หมื่นเมกกะวัตต์ แรงงานที่มีความพร้อมในการยกระดับและพัฒนาฝีมือแรงงาน และความเป็นกลางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งการเดินทางออกไปโรดโชว์ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมาและกำลังจะไปโรดโชว์ในอนาคตช่วยตอกย้ำว่าประพเทศไทยตื่นแล้ว ปรับตัวเอง และพร้อมรับการลงทุน
“60 บริษัทที่มาพบกับนายกรัฐมนตรีแสดงว่าให้ความสนใจ และมั่นใจว่าประเทศไทยเปิดพร้อมรับการลงทุน บางคนบอกว่าประเทศไทยเป็นกระต่ายที่หลับ แต่ที่จริงแล้วประเทศไทยเราเป็นกระต่ายที่พร้อมจะวิ่งไปข้างหน้าถ้ากระต่ายไม่หลับ อย่างไรก็ชนะวันยังค่ำ"
ทั้งนี้รัฐบาลทำงานอย่างหนักเพื่อประกาศกิติศัพท์ว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว แม้ถูกกล่าวขานว่าเป็นสาวที่ค่อนข้างจะมีอายุแล้ว แต่าจะกลับมาเป็นสาวที่มีอายุแต่ทันสมัยอย่างไร โดยจะมีทีมเตรียมการและติดตามเพื่อให้ให้เข้ามาประเทศไทยอย่างจริงจัง
5ปีขอส่งเสริมลงทุนเกิน 3 ล้านล้าน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีเริ่มประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุน และเปิดประเทศรับการลงทุนรวมทั้งเริ่มเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศทำให้เริ่มเห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน
ทั้งนี้ในปี 2566 บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มูลค่าการลงทุนตรง FDI ขยายตัวกว่า 145% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา
“การสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนด้วย บีโอไอจึงมั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้เกินกว่าเป้าที่วางไว้ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ 2566-2570 ที่ 3 ล้านล้านบาท เห็นได้จากปี 2566 ได้มาแล้ว 8.5 แสนล้านบาท ในปี 2567 มั่นใจไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท”
โรดโชว์ดึงลงทุน 5.5 แสนล้าน
นายนฤตม์ กล่าวว่า การเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีนั้นมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเนื่องจากเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเองทำให้ซีอีโอหรือเจ้าของบริษัทที่มีอำนาจตัดสินใจลงทุนเดินทางมาพบหารือกับนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเองช่วยสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และการเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้ง ต้องมีการทำงานเพื่อเตรียมการก่อนไป ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมข้อมูลเชิงลึก แพ็คเกจการลงทุนที่จูงใจและตอบโจทย์ต่อความต้องการของนักลงทุน
รวมถึงการทำงานเพื่อติดตามผลการประชุมอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่องโดยทีมงานของนายกรัฐมนตรีร่วมกับทีมบีโอไอ เพื่อช่วยแก้อุปสรรคปัญหา และแก้ไขกฎระเบียบเพื่อทำให้ประเทศไทยเอื้อต่อการลงทุน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและทีมงานของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยบีโอไอได้ประเมินเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลักที่ได้กล่าวมา รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท โดยเป็นการทยอยลงทุนโดยจะมีการลงทุนภายใน 1-3 ปี ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท
เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำแห่งแรก
โดยในการลงทุนส่วนนี้แบ่งเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ 9.5 หมื่นล้านบาท การลงทุนในสาขายานยนต์ และชิ้นส่วน 2.1 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น 4 ค่ายที่ประกาศแผนการลงทุนในไทยใน 1.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี ขณะที่การลงทุนดิจิทัลและดาต้าเซนเตอร์ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้สิ่งที่จะเห็นการลงทุนในปีนี้ชัดเจนคือการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยในการลงทุนรอบนี้ถือว่าเป็นคลื่นการลงทุนใหม่ (New Wave) ในรอบ 30 ปี โดยการลงทุนที่สามารถเปิดเผยได้ เช่น การลงทุนโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำเพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของชิปต้นน้ำ ซึ่งลงทุนโดยบริษัท HANA Electronic ซึ่งถือว่าจะช่วยทำให้ประเทศไทยเริ่มมีการลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงซึ่งโรงงานประเภทนี้ในอาเซียนมีเฉพาะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนเวียดนามยังไม่มี นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในศูนย์ทดสอบชิปขั้นสูงมูลค่าการลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ศูนย์การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 พันล้านบาท เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง สร้างงานทักษะสูงในประเทศซึ่งจะมีการจ้างงานหลายพันตำแหน่งซึ่งบีโอไอได้มีการให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนจับมือกับสถานศึกษาเพื่อมีการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะ
ดึงลงทุนแบตเตอรี่ระดับเซลล์
ในส่วนของอุตสาหกรรมรถอีวีนั้นในปีนี้บีโอไอคาดว่าจะมีการลงทุนในแบตเตอรี่รถอีวีระดับเซลล์แบตเตอรี่เข้ามาในประเทศไทยซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงของแบตเตอรี่มาตั้งโรงงานในไทยได้ประมาณ 2 ราย โดยในเดือน เม.ย.ปีนี้จะมีการโรดโชว์พบผู้ผลิตชั้นแบตเตอรี่ระดับเซลล์ของประเทศจีน 7 – 8 ราย และในขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการดึงการลงทุนค่ายรถอีวีชั้นนำกว่า 10 รายและจะดึงการลงทุนเพิ่ม
ส่วนอุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์และคลาวด์เซอร์วิสซึ่งเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยจะรับการลงทุนจำนวนมาก นอกจากอะเมซอนเว็บเซอร์วิส (AWS) ที่เข้ามาลงทุนวงเงินประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปีซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีไปหารือแล้วผู้บริหารของบริษัทนี้ก็บอกว่าอาจจะขยับการลงทุนให้เร็วขึ้น
ส่วนการลงทุนของรายอื่นๆขณะนี้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องเช่น ผู้บริหารของไมโครซอฟต์ และกูเกิล ที่กำลังหารือกันในขั้นสุดท้ายซึ่งหากมีการลงทุนก็จะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เช่นกัน โดยการลงทุนในสาขานี้ถือเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม AI โดยคาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ให้บริการระดับ Hyperscale เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องหลายแสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคได้
ดึงเฮดควอเตอร์ตั้งเพิ่ม 5 ราย
การดึงดูดบริษัทชั้นนำให้ตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางการเงิน และโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ โดยในปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายรายเลือกไทยในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค ส่งผลให้มีแรงงานทักษะสูงระดับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย นอกจากนั้น รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการจูงใจให้ภาคเอกขนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทผู้มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ดิจิทัล การเงิน โลจิสติกส์ ไปจนถึงธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในหลาย ๆ ด้าน
โดยนอกเหนือจากปัจจัยด้านธุรกิจเช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ ต้นทุนทางธุรกิจที่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตสำหรับกลุ่มคนทำงานด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบรักษาพยาบาล โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5 ราย