‘เศรษฐา’ ดึง ’กสิกร’ ร่วมทีมโรดโชว์ ดึงลงทุนเข้าไทย ช่วยหนุน ‘แลนด์บริดจ์’
"เศรษฐา" หารือ "ขัตติยา" ดึงกสิกรไทยร่วมทีมโรดโชว์ให้ความเชื่อมั่นนักลงทุน เผยหารือการขยายสาขาในเวียดนามให้ครอบคลุม พร้อมหนุนโครงการแลนด์บริดจ์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าผ่านแอพพลิเคชั่น X หรือ ทวิตเตอร์ ส่วนตัวว่าวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ตนเองได้หารือกับ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือ “KBANK” เกี่ยวกับการขยายธุรกิจในเวียดนามซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยครับ
โดยธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาที่โฮจิมินห์เมื่อปี 2565 และมีแนวทางที่จะขยายสาขาให้ครอบคลุมเมืองสำคัญในเวียดนาม
นอกจากนี้ ทางธนาคารพร้อมที่จะร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยในการจัดกิจกรรม Roadshow เพื่อแสดงศักยภาพของไทยกับนักลงทุนชาวต่างชาติ ในโครงการต่าง ๆ ของไทย เช่นโครงการสะพานเศรษฐกิจไทย (Landbridge) ด้วย
ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้เปิดให้บริการธนาคารกสิกรไทย สาขาโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการ ตามยุทธศาสตร์การเป็นผู้ให้บริการ Regional Digital Banking ในภูมิภาค AEC+3 โดยนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ
นางสาวขัตติยาระบุว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยุคหลังโควิด 19 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก และยังโดดเด่นกับตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากจึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ธนาคารจึงเดินหน้าขยายบริการในภูมิภาคเพื่อเชื่อมต่อโอกาสให้แก่ธุรกิจไทย และส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการในประเทศท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อได้สะดวกและครอบคลุมความต้องการในทุกพื้นที่
ทิศทางการลงทุนของธนาคารกสิกรคือการให้บริการลูกค้าทุกคน แต่ที่ผ่านมา กสิกรจะเก่งและเชี่ยวชาญในการให้บริการกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี หรือ ลูกค้าขนาดกลางขนาดย่อม ส่วนในกลุ่มลูกค้าบุคคล ในผลิตภัณฑ์สินเชื่อก็จะเชี่ยวชาญในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน ซึ่งอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตได้
นอกจากนี้ยังมองโจทย์การขยายบริการไปยังประเภทในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม จีน ลาว กัมพูชา อินโดนีเชีย เนื่องจากหลังโควิด 19 มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก
“ เราจะใช้งบประมาณ 1 แสนล้านใน 3-5 ปี โดยจะการลงทุนด้านไอที หรือการบริการดิจิทัล และบางส่วนใช้ในการลงทุน โดยอาจจะอยู่ในลักษณะการร่วมทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในภูมิภาค”