กสิกรชี้ เงินเฟ้อ ม.ค. ติดลบเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ม.ค. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 35 เดือน แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่นับว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนม.ค. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันและต่ำสุดในรอบ 35 เดือนที่ -1.11% YoY โดยเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังไม่นับว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงทุกรายการ โดยในเดือนม.ค. 2567 มี 265 จาก 430 รายการที่ราคายังคงปรับขึ้น
ในขณะที่เงินเฟ้อฟื้นฐานเดือน ม.ค.2567 อยู่ที่ 0.52% YoY ซึ่งแม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในระดับต่ำมาก
สะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่จำกัด แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลเนื่องจากเงินเฟ้อทั่วไปของไทยก่อนช่วงวิกฤติโควิดก็อยู่ที่ราว 0.5% โดยเฉลี่ย
เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีโอกาสที่จะติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 1/2567 ตามมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานที่ยังมีอยู่
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไปคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวก เนื่องจากทางภาครัฐมีแนวโน้มลดการอุดหนุนราคาพลังงานและทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ เงินเฟ้อของไทยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากความขัดแย้งในทะเลแดงที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น
• ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 0.8% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธปท. ที่ 1-3% ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังปีนี้