รัฐจ่อรื้องบฯ 68 - แผนการคลังระยะปานกลาง หาแหล่งเงินทำ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'
“บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต” สั่ง “คลัง-สำนักงบฯ” เร่งสรุปแหล่งเงิน ชง 3 ทางเลือก เสนอบอร์ด 10 เม.ย.ก่อนแถลงใหญ่อีกรอบ ระบุหากใช้งบประมาณ ต้องออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 67 พร้อมรื้องบฯปี 68 ทบทวนแผนคลังระยะปานกลาง งบปี 68 หากขาดดุลเพิ่มเติมจากกรอบเดิม เสี่ยงขาดดุลทะลุ 1 ล้านล้าน
KEY
POINTS
-
โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลใกล้จะได้ข้อสรุปในเรื่องของแหล่งเงิน 5 แสนล้าน นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณหารือกันก่อนเสนอที่ประชุมฯชุดใหญ่อีกครั้ง 10 เม.ย.นี้
-
กระทรวงการคลังแจง 3 ทางเลือก แหล่งเงินชงบอร์ด 10 เม.ย. และนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.
-
แนวทางใช้งบประมาณมีข้อดี แต่ก็มีข้อจำกัด หากจะใช้งบฯปี67 ต้องออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 67 ส่วนงบประมาณปี 68 เมื่อปรับขึ้นก็ต้องทบทวนแผนคลังระยะปานกลาง หากขาดดุลเพิ่มเติมจากกรอบเดิม เสี่ยงการขาดดุลงบประมาณพุ่งจากเดิม และจะต้องปรับแผนการคลังระยะปานกลางใหม่ด้วย ดุลทะลุ 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะแตะ 66%
โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลใกล้จะได้ข้อสรุปในเรื่องของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณหารือกันก่อนเสนอที่ประชุมอีกครั้ง 10 เม.ย.นี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้เข้าร่วมด้วยตัวเอง แต่มอบหมายให้นายรณดล นุ่มนนท์รองผู้ว่าการ ธปท.ประชุมชุมแทน เพราะติดภารกิจสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สอบถามในที่ประชุมด้วยว่า “ทำไมผู้ว่าแบงก์ชาติไม่มาประชุม”
นายเศรษฐา กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมรับทราบเศรษฐกิจมีปัญหาจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยต่ำมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตสูงกว่าไทยเท่าตัว และที่ประชุมรับทราบข้อเสนอกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอมอบหมายแต่ละหน่วยงานสรุปข้อมูลมาเสนอการประชุมในวันที่ 10 เม.ย.2567 ประกอบด้วย
1.กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ สรุปแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
2.กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ของร้านค้าและสินค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต
3.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สรุปการพัฒนาระบบแบบเปิดเพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจระเป๋าเงินดิจิทัลเข้าร่วมโครงการได้
4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) วางกรอบการตรวจสอบ วินิจฉัย ร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเรียกเงินคืนกรณีพบเห็นการทุจริตในโครงการ
นอกจากนี้ เมื่อได้ข้อสรุปในวันที่ 10 เม.ย.2567 จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน เม.ย.2567 โดยรัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และในไตรมาสที่ 4 เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะถึงมือประชาชนต่อไป
“ทุกภาคส่วนเห็นด้วยหมดทั้งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท.เห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด และขอให้คอยฟังข่าวดีในวันที่ 10 เ.ม.ย.นี้”
กรรมการไม่ติดใจความเห็น ป.ป.ช.
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลยืนเดินหน้านโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตหลังรับฟังความเห็นทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งการประชุมบอร์ดชุดใหญ่ครั้งนี้ได้เดินหน้าต่อและให้ประชาชนรอฟังข่าวดีวันที่ 10 เม.ย.นี้ จะได้ข้อสรุปทั้งหมด โดยเฉพาะแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฉบับจริง โดยที่ผ่านมารัฐบาลตรวจสอบข้อเสนออย่างละเอียด โดยการประชุมครั้งก่อน ผู้ว่าฯ ธปท.ขอนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.และข้อหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษา แต่ครั้งนี้ไม่มีการพูดถึงรายละเอียดเรื่องนี้
คลังเผย 3 แนวทางแหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ต
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณหาข้อสรุปแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาโครงการอาจล่าช้าเพราะมีการรับฟังความเห็นทุกฝ่ายอย่างรอบครอบ ซึ่งยังยืนบนหลักการของการมีความปลอดภัย มีวินัยทางการเงินการคลังและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยปัจจุบันมี 3 แนวทางที่เป็นไปได้ คือ
1.การใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการหารือกันมาก่อนหน้านี้ โดยการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท
2.การใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจก็จะดำเนินการได้ โดยอาจปรับวงเงินในการจัดทำงบประมาณปี 2568 ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้ที่ผ่านมาไม่มีมาก่อน แต่ขณะนี้มีทางเลือกในการใช้งบประมาณ 2568 เข้ามาเป็นทางเลือกเพิ่มเติม
ขณะที่งบประมาณปี 2567 จะนำมาใช้หรือไม่นั้น ต้องหารือสำนักงบประมาณอีกครั้ง เช่นเดียวกันหากใช้งบประมาณปี 2568 แล้วต้องปรับเปลี่ยนกรอบเงินงบประมาณใหม่ก็ทำได้เช่นกัน โดยปรับได้ให้เป็นปัจจุบันและดีที่สุดจึงไม่ต้องการให้ยึดแบบเดิมว่าตัดสินใจไปแล้วเปลี่ยนไม่ได้
3.การใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากมีความเหมาะสม
“รัฐบาลยืนยันว่าเป็นนโยบายจำเป็นของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องดูกลไกเช่นกัน ส่วนจะใช้งบประมาณปี 2567 มาใช้ด้วยหรือไม่ต้องขอหารือสำนักงบประมาณก่อน เพราะเพิ่งได้การบ้านมา"
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ปรับเปลี่ยนไปจึงต้องดูแหล่งเงินใดเหมาะสมที่สุด ซึ่งจะได้ความชัดเจนวันที่ 10 เม.ย.นี้ ซึ่งจะแถลงให้ประชาชนรับทราบทั้งหมดและต้องเสนอ ครม.ภายในเดือน เม.ย.นี้ จะไม่ได้อยู่ในชั้นของกรรมการเท่านั้น
ช่องทางพ.ร.บ.โอนดึงงบฯเข้าโครงการ
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ให้ยึดกรอบวงเงินเดิม 500,000 ล้านบาท และยืนยันดำเนินการแน่นอน แต่ยังไม่สรุปแหล่งเงินจึงมอบหมายกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ หารือข้อดีข้อเสียแต่ละแนวทาง
ส่วนประเด็นกรณีปรับกรอบงบประมาณขาดดุลเพิ่ม 300,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการนี้ นายเฉลิมพลตอบว่า ยังไม่สรุปในที่ประชุมฯ ส่วนจะเปลี่ยนแปลงกรอบงบประมาณ 2568 หรือไม่ ในทางงบประมาณจะทำได้หรือไม่ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวก่อน และเสนอที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่วันที่ 10 เม.ย.2567
ขณะที่ประเด็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ผ่านรัฐสภาแล้วปรับมาใช้ในโครงการนี้ได้หรือไม่ นายเฉลิมพล กล่าวว่า ในอดีตที่เคยดำเนินการเมื่อการใช้จ่ายงบไม่เป็นไปตามแผน หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยอาจออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณมาเพื่อให้รัฐบาลนำมาใช้จ่ายในโครงการที่กำหนดไว้ได้
“ในอดีตเคยออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เข้ารัฐสภา แต่ตอบไม่ได้ว่าจะทำหรือไม่ หลังจากจัดสรรงบประมาณแล้วต้องดูว่าประสิทธิภาพการใช้งบเป็นอย่างไร”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการหลายข้อ โดยเรื่องความพร้อมของระบบนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่าในการเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนต้องทำระบบให้พร้อมห้ามให้ระบบล่มเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานซึ่งมีการเปรียบเทียบโครงการคนละครึ่งที่ใช้เวลาในการปรับระบบ 3 เดือน
รับใช้งบประมาณมีข้อจำกัด
สำหรับการหาแหล่งเงินมีข้อเสนอจากหน่วยงานจำนวนมาก ซึ่งมีความเห็นว่ารัฐบาลควรใช้แหล่งเงินจากงบประมาณประจำปี 2567-2568 ดีกว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งมีความเสี่ยงทางกฎหมายทั้งการขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้กรณีใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มาใช้ในโครงการนี้บางส่วน มีประเด็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เพราะผ่านรัฐสภา 3 วาระ และรอประกาศใช้ จึงต้องใช้วิธีการออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เพื่อเปลี่ยนแปลงรายการจากการที่หน่วยงานราชการบางแห่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันมารวมเป็นงบประมาณก้อนใหม่เพื่อใช้โครงการนี้
ส่วนการใช้งบประมาณปี 2568 มาเป็นแหล่งเงินในการทำโครงการนี้ทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงกรณีมีการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมจำนวนมากจะทำให้ต้องปรับกรอบวงเงินงบประมาณปี 2568 จากเดิมที่เสนอ ครม.เห็นชอบ วงเงิน 3.6 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณ 7.13 แสนล้านบาท
รวมทั้งหากตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นในงบประมาณในปี 2568 อาจจะเกิน 1 ล้านล้านบาท เพราะหากตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 287,000 ล้านบาท จะทำให้ยอดการขาดดุลงบประมาณปี 2568 เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะขาดดุลงบประมาณสูงสุด
หนี้สาธารณะจ่อขยับสูงหากขาดดุลเพิ่ม
นอกจากนี้หากขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงมากจะทำให้ระดับดุลการคลังต่อจีดีพีสูงขึ้นเร็วจากเดิมที่จะอยู่ที่ระดับ 3.56% ต่อจีดีพี และหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63.73% ในปี 2568 จะขยับเพิ่มขึ้นสูงโดยดุลการคลังต่อจีดีพีอาจขึ้นไปอยู่ใกล้กับระดับ 4% จากระดับความยั่งยืนทางการคลังที่อยู่ในระดับไม่เกิน 3%
และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับ 66% ต่อจีดีพีจากระดับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่อยู่ที่ 70% ต่อจีดีพี ซึ่งทำให้พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่จะรองรับวิกฤติต่างๆเหลือเพียง 4% เท่านั้น
“การเลือกแนวทางใช้งบประมาณ แม้เป็นแนวทางที่มีความคิดเห็นที่สนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่เป็นแนวทางที่มีข้อจำกัดในการจัดทำงบประมาณพอสมควร เพราะงบประมาณมีข้อจำกัด และมีข้อกำหนดทางกฎหมาย เช่น การกำหนดงบลงทุนไว้ 20% หากมีโครงการใดเข้ามาแล้วต้องการใช้งบประมาณจำนวนมากในงบประมาณปี 2568 จะกระทบอีกหลายปีงบประมาณ และต้องทบทวนและจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2568 ไปจนถึงปี 2571”แหล่งข่าวระบุ