กระหึ่ม! กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก “พาณิชย์” โชว์ งานศิลปะ ขับเคลื่อน Soft Power
พาณิชย์ใช้ “งานศิลปะ” ขับเคลื่อน Soft Power ไทยในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก จัดแสดงผลงานภาพวาด “Bangkok Series” และ “Muay Thai Series” สร้างปรากฎการณ์ มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก ช่วยสร้างกระแสการขับเคลื่อน Soft Power ด้านงานศิลปะ และโปรโมตประเทศไทย
การขับเคลื่อน Soft Power ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ ผลักดันอุตสาหกรรมศักยภาพที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างพลังทางวัฒนธรรม กระแสความชื่นชอบสินค้าไทย และการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์รัฐบาลในการต่อยอดพลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมและจุดเด่นของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศต่อไป และหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ งานศิลปะ
กลุ่มประเทศยุโรป ถือเป็นดินแดนแห่งศิลปะและวัฒนธรรม โดยศิลปะเป็นรากทางวัฒนธรรมของยุโรปอยู่แล้ว จะเห็นว่าเมืองใหญ่ๆ แต่ละเมืองจะมีอัตลักษณ์ทางศิลปะของตัวเองอยู่หลากหลาย ประเทศในยุโรปจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการเผยแพร่ Soft Power ด้านงานศิลปะ
“ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ “อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก โดยนางสาวนภัสชล วัฒนานุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก ได้ร่วมมือกับนายออนเดรจ มิเชค (Mr. Ondřej Míšek) กราฟิกดีไซเนอร์และศิลปินนักวาดภาพชาวเช็ก ซึ่งเคยอาศัยอยู่ประเทศไทยกว่า 7 ปี
นำผลงานภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมาจัดแสดงภายใต้ชื่อ “Bangkok Series” และ “Muay Thai Series” รวมทั้งจัดแสดงชุดภาพวาดขณะที่เขาศึกษาการออกแบบกราฟิกในกรุงวอร์ซอ ภายใต้แนวคิดหลัก “Paint your Life” ณ Manes Gallery กรุงปราก ระหว่างวันที่ 14–25 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
“การจัดงานครั้งนี้ ภาพวาดเกี่ยวกับประเทศไทย ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นายออนเดรจ มิเชค จึงมีแนวคิดในการจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับประเทศไทยเพียงอย่างเดียวอีกครั้งภายในปีนี้ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก จะหารือร่วมกับ นายออนเดรจ มิเชคในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยร่วมกันต่อไป”
สำหรับ นายออนเดรจ มิเชค เกิดปี 1977 ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ศึกษาการออกแบบกราฟิกที่ Academy of Fine Arts ในกรุงวอร์ซอ นอกจากเรียนกราฟิกแล้ว เขายังทุ่มเทกับการวาดภาพ โดยช่วงปี 2552-2559 เขามาอยู่ที่กรุงเทพ ประเทศไทย ทำงานเป็นอาจารย์ด้านการออกแบบกราฟิก และยังเป็นผู้จัดการไนต์คลับยอดนิยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่แสดงคาบาเร่ต์และดนตรีแจ๊ส
รวมถึงความชื่นชอบในกีฬามวยไทย จนกลายเป็นครูฝึกมวยไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจในผลงานการวาดภาพของเขา จากพื้นฐานการเรียนออกแบบกราฟิกและการออกแบบโปสเตอร์ส่งผลมายังสไตล์ผลงานของเขาในการวาดภาพเป็นรูปร่างที่เชื่อมโยงกับตัวพิมพ์ที่แข็งแกร่ง
โดย นายออนเดรจ มิเชค กล่าวว่าเขาชื่นชอบประเทศไทยเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเขาเลยทีเดียว
โดยงานจัดแสดงภาพวาดในกรุงปรากนี้ต้องการเผยแพร่ Soft Power ด้านงานศิลปะเพื่อเป็นการจุดกระแส และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยให้แก่ชาวเช็กได้รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวเช็กเป็นจำนวนมาก และจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นแก่สินค้าไทยในอนาคตต่อไป