มาตรฐานข้าวไทยและข้อกำหนดเรื่องข้าวเก่า
ประเทศไทย เป็นประเทศส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2554 การส่งออกข้าวไทยตกลงมาเป็นอันดับสาม
เนื่องจากผลจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าตลาด ทำให้ต้นทุนการส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือเวียดนามและอินเดีย จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถทำสถิติส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งได้อีกเลย เพราะราคาข้าวไทยยังสูงกว่าสูงกว่าราคาข้าวของประเทศคู่แข่งทั้งสอง
เนื่องจากการส่งออกข้าวไทยเป็นที่มาของรายได้ของประเทศที่สำคัญ และมีผลต่อราคาข้าวภายในประเทศที่ชาวนาจะได้รับ จำเป็นต้องกำหนดให้มีมาตรฐานข้าวที่ส่งออก เพื่อให้มีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาคุณภาพของข้าวที่ส่งออกที่ชัดเจนแน่นอน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ที่จะตกลงซื้อข้าวจากผู้ส่งออก เพียงระบุชื่อประเภทชนิดข้าว ชั้น โดยไม่ต้องบรรยายรายละเอียด
กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดทำมาตรฐานข้าวเป็นฉบับแรก ออกประกาศให้ถือปฏิบัติเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2500 และจัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นฉบับแรกโดยความอนุเคราะห์ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งก็เป็นที่รับรู้รับทราบและอ้างอิงได้ในวงการค้าข้าวระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
เช่น ผู้ซื้อจะระบุข้าวที่ตกลงซื้อขายจากไทย ว่า Thai White Rice 5% Broken Double polished new Crop 2024 Specification As Per Official Export Standards of Thailand บางครั้งก็เรียกสั้นๆ ว่า As Per Thai Standards ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ต้องเป็นข้าวที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร
ต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานข้าวฉบับแรก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการผลิตการค้าข้าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2517 โดยสภาหอการค้าฯ ให้ความอนุเคราะห์จัดพิมพ์เผยแพร่เช่นเดิม
กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรฐานข้าวเพิ่มขึ้นอีก 3 ชนิดในเวลาต่อมา ซึ่งมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน คือ มาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 มาตรฐานสินค้าข้าวหอมไทย พ.ศ.2559 และมาตรฐานสินค้าข้าวสีไทย พ.ศ.2562
คุณลักษณะที่สำคัญของข้าวที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการกำหนดมาตรฐานข้าว ดังนี้
“พื้นข้าว” คือ สภาพข้าวโดยรวมที่ประกอบด้วยข้าวเต็มเมล็ด ที่มีความยาวในระดับต่างๆ ตามที่กำหนดที่ผสมปนกันอยู่ มีหน่วยเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก
“ส่วนผสม” คือส่วนที่ประกอบด้วย ข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน โดยต้นข้าว ข้าวเต็มเมล็ด ต้องมีไม่น้อยกว่าที่กำหนด ส่วนข้าวหัก ปลายข้าวซีวันต้องมีไม่เกินที่กำหนด มีหน่วยเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก
“สิ่งเจือปน” ได้แก่ สิ่งที่อาจมีปนได้ ได้แก่ ข้าวประเภทอื่นที่ปนอยู่ ข้าวด้อยคุณภาพ เช่น เมล็ดเสีย เมล็ดลีบ ถูกแมลงทำลาย เมล็ดเหลือง เมล็ดแดง ข้าวท้องไข่ เป็นต้น และวัตถุอื่น เช่น ดอกหญ้า ซึ่งต้องมีไม่เกินที่กำหนด มีหน่วยเป็นร้อยละโดยน้ำหนัก
“ระดับการขัดสี” คือการขัดสีเอารำออกหมดหรือไม่เพียงใด ซึ่งกำหนดไว้สามหรือสี่ระดับ แล้วแต่ประเภทของข้าว คือสีดีพิเศษ สีดี สีดีปานกลาง และสีธรรมดา
“ความชื้น” ต้องไม่เกิน 14% โดยน้ำหนัก
ทั้งนี้ หากเป็นข้าวหอมมะลิไทยหรือข้าวหอมไทย ต้องมีปริมาณเมล็ดข้าวหอมมะลิไทยหรือข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่าที่กำหนด มีหน่วยเป็นร้อยละโดยปริมาณ
การตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ส่งออกว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ ต้องตรวจให้ครบทุกคุณลักษณะ หากผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือว่าข้าวนั้นผิดมาตรฐาน
คุณลักษณะที่กำหนดโดยผู้ซื้อ
นอกจากคุณลักษณะตามที่กำหนดในมาตรฐานข้าวแล้ว ผู้ซื้ออาจกำหนดคุณลักษณะอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้ เช่น การขัดสี ผู้ซื้อบางรายกำหนดว่าต้องมีการขัดสีเมล็ดข้าวให้วาว สองรอบ (Double polish)
นอกจากนี้ ผู้ซื้อก็อาจกำหนดให้คุณลักษณะบางอย่างด้อยกว่าที่กำหนดในมาตรฐานข้าวก็ได้ เช่น กรณีผู้ซื้อข้าวเก่าไปผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ยอมให้มีข้าวเมล็ดเหลืองเกินกว่าที่กำหนดตามมาตรฐานข้าว จะเป็นการตกลงที่เรียกว่าการซื้อขายข้าวตามตัวอย่าง
ข้าวเก่าข้าวใหม่
คุณลักษณะเป็นข้าวเก่าหรือข้าวใหม่ไม่มีกำหนดในมาตรฐานข้าว แต่ในทางการค้า จะเป็นไปตามความตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น
จีน โดย Cofco ตกลงซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยแบบจีทูจี ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์กำลังระบายข้าวในสต๊อกจากโครงการรับจำนำข้าว ฝ่ายจีนระบุชัดเจนว่าต้องไม่ใช่ข้าวในสต๊อกของรัฐ และระบุว่าต้องเป็นข้าวฤดูการผลิตใหม่มีอายุเก็บรักษาไม่เกินสี่เดือน
ฮ่องกง ผู้ซื้อส่วนมากจะระบุว่าต้องเป็นข้าวฤดูการผลิตปีปัจจุบัน
อินโดนีเซีย ระบุว่าต้องเป็นข้าวฤดูการผลิตล่าสุดไม่เกินหกเดือน โดยให้ใช้ผลการตรวจสอบค่า pH ความเป็นด่างเป็นกรดของข้าวเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ค่า pH ต้องไม่น้อยกว่า 6.2 ข้าวที่มีค่า pH น้อยกว่า 6.2 ซึ่งเข้าเกณฑ์มีสภาพเป็นกรด วินิจฉัยได้ว่าเป็นข้าวเก่ามีอายุเกินหกเดือน
ฟิลิปปินส์ ผู้ซื้อบางรายมีการกำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย คือเป็นข้าวฤดูการผลิตล่าสุด ไม่เกินหกเดือน โดยให้ใช้ผลการตรวจสอบค่า pH ความเป็นด่างเป็นกรดของข้าวเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ค่า pH ต้องไม่น้อยกว่า 6.2
มาตรฐานข้าวส่งออกใช้กับข้าวที่จำหน่ายเพื่อการบริโภคในประเทศด้วย
สำหรับข้าวที่จำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ เช่น ข้าวถุง กระทรวงพาณิชย์มิได้กำหนดมาตรฐานข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นการเฉพาะ ในการพิจารณาคุณภาพของข้าวที่จำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะข้าวถุง ได้อิงมาตรฐานข้าวส่งออกเป็นหลัก
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศ ของกรมการค้าภายใน ก็อิงมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยสำหรับการส่งออกเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย.