มองศก.ไทยผ่านแผนการคลังระยะปานกลาง GDPลด – หนี้สาธารณะเพิ่ม – ความเสี่ยงสูง
ผ่ารายละเอียดแผนการคลังระยะปานกลางไทยฉบับปรับปรุง 2567 - 2571 เพิ่มกรอบงบประมาณ ดันขาาดดุลปี 68 ดันนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 66 - 67% ขณะที่จีดีพีโตเฉลี่ย 3% พื้นที่การคลังเหลือน้อย หากเกิดปัญหาจีดีพีหดตัวเสี่ยงต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 70% เพิ่มเพื่อออกมาตรการได้
KEY
POINTS
- แผนการคลังระยะปานกลางปี 2567 - 2571 ที่ผ่าน ครม.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.หลังจากมีการปรับแผนเนื่องจากมีการแก้ไขงบฯปี 68 ให้ขาดดุลฯเพิ่ม 1.5 แสนล้าน
- แผนการคลังระยะปานกลางสะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตเฉลี่ยแค่ 3% ต่ำกว่าเป้าหมาย 5% ต่อปีที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
- นอกจากจีดีพีที่ลดลง ระดับหนี้สาธารณะยังเพิ่มไปในระดับ 66 - 67% ต่อจีดีพี ซึ่งใกล้ระดับ 70% ต่อจีดีพีที่เป็นกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
แม้ว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะประกาศเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวให้ได้เฉลี่ยปีละ 5% ตลอดระยะเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี 4 ปี แต่หากเราพิจารณาจากข้อเท็จจริงผ่านแผนการคลังระยะปานกลางฉบับปรับปรุง (2567 - 2571)ที่เพิ่งจะมีการปรับปรุงไปและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะ 4 – 5 ปีข้างหน้ายังไม่มีปีใดที่การโตเติบจะขยายตัวได้ถึง 5% ต่อปี
จีดีพีโตเฉลี่ย 3.3%
โดยสถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8% (ค่ากลาง 3.3%) ในปี 2569 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.8% (ค่ากลาง 3.3%) และในปี 2570 และ2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7 – 3.7% (ค่ากลาง 3.2%) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 - 2570 จะอยู่ในช่วง 1.3 - 2.3% และในปี 2571 - 2572 จะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5% จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นขยายตัวอยู่ในระดับ 2 – 3% เท่านั้น
ทั้งนี้หลังจากการปรับปรุงกรอบงบประมาณปี 2568 แล้วทำให้กรอบกรอบงบประมาณรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 865,700 ล้านบาท และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 66.93%
ในปี 2569 งบประมาณรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 703,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.53%
ปี 2570 งบประมาณรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.57%
และ ปีงบประมาณ 2571 รายจ่ายจะอยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 683,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.05%
แม้จะมีการตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ตัวเลขจีดีพี นั้นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับการทำแผนการคลังระยะปานกลางในเดือนธ.ค.ปี 2566 ที่ผ่านมาเปรียบเทียบระหว่างการทำแผนการคลังระยะปานกลาง 2 ครั้ง โดยในส่วนของการทำแผนการคลังระยะปานกลางครั้งก่อนมีรายละเอียดดังนี้
จีดีพีลดสวนทางระดับหนี้สาธารณะเพิ่ม
1.ปีงบประมาณ 2568 เดิมขนาดจีดีพี 20.04 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ63.73% ต่อจีดีพี ส่วนที่มีการปรับปรุงใหม่ขนาดจีดีพีลดลงเหลือ 19.5 ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 66.93% ต่อจีดีพี
2.ปีงบประมาณ 2569 เดิมขนาดจีดีพีเท่ากับ 21.11 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบ 64.23%ต่อจีดีพี ส่วนที่มีการปรับปรุงใหม่อยู่ที่ 20.5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณต่อจดีพีอยู่ที่ 67.53% ต่อจีดีพี
3.ปีงบประมาณ 2570 เดิมขนาดจีดีพีเท่ากับ 22.25 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.07% ส่วนเมื่อมีการปรับปรุงใหม่อยู่ที่ 21.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67.57% ต่อจีดีพี
ดุลการคลังต่อจีดีพีสูงเกิน 3%
นอกจากนี้หากดูในส่วนของดุลการคลังต่อจีดีพีที่มีการปรับเพิ่มขึ้นไปสูงถึงระดับ 4.42% ในปี 2568 จะค่อยๆปรับลดลงจนมาอยู่ในระดับ 3% ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ได้ภายในปี 2571 แต่ก็ยังไม่ต่ำกว่าระดับ 3%
ทั้งนี้อีกประเด็นที่ควรมีการพิจารณาคือในส่วนของพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) ของแผนการคลังระยะปานกลางของไทยนั้นถือว่าเหลือน้อยมากเมื่อเทียบกับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 70% เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะตามแผนการคลังระยะปานกลางนั้นขยับขึ้นไปสูงถึงระดับ 66 – 67% แล้ว
ซึ่งในส่วนนี้หากจีดีพีไม่โต หรือเกิดวิกฤตที่เสี่ยงทำให้เศรษฐกิจหดตัว หากจะมีการออกมาตรการทางการคลังมาช่วยเหลือเศรษฐกิจอีกก็อาจทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากที่ระดับ 70% ออกไปอีกเพื่อให้สามารถออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจได้
ความแข็งแรงทางด้านการคลังที่เคยเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังถูกตั้งคำถามว่าเรายังมีจุดแข็งในเรื่องนี้อยู่หรือไม่ เพราะเห็นได้จากกรอบการคลังระยะปานกลางว่าเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำ ขนาดจีดีพีลดลง ขณะที่ความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงจนใกล้จะชนเพดาน ที่จะกระทบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลัง