“เศรษฐา”เปิดทำเนียบรับ“สัตยา” CEO ไมโครซอฟท์ ย้ำลงทุน "คลาวด์-เอไอ”แสนล้าน

“เศรษฐา”เปิดทำเนียบรับ“สัตยา” CEO ไมโครซอฟท์ ย้ำลงทุน "คลาวด์-เอไอ”แสนล้าน

“เศรษฐา” เปิดทำเนียบฯ รับ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอใหญ่ ไมโครซอฟท์ โอกาสเยือนไทย 1 พ.ค.นี้ ถกลงทุนดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์ รุกเอไอดึงลงทุนแสนล้าน หลังเซ็น MOU ร่วมกันแล้ว ด้าน “ไมโครซอฟท์” เชิญซีอีโอระดับประเทศร่วมหารือ เปิดนักพัฒนาในไทยเข้าร่วมงาน Microsoft Build : AI Day

KEY

POINTS

  • “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอใหญ่ของไมโครซอฟท์จะเดินทางมาเยือนไทย 1 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมงาน Microsoft Build : AI Day
  • นายกรัฐมนตรีของไทยมีกำหนดการพบกับซีอีโอไมโครซอฟท์ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะใช้โอกาสนี้ในการหารือถึงความคืบหน้าถึงแผนการลงทุนในไทยหลังจากก่อนหน้ามีการMOU กันระหว่างสองฝ่ายแล้ว
  • ความร่วมมือของไมโครซอฟท์กับรัฐบาลไทย และแผนการลงทุนในไทยครอบคลุมหลายด้านทั้งดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์ และ AI โดยไมโครซอฟท์จะมีการประชุมกับนายกฯ ทุก 3 เดือน เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความร่วมมือในประเด็นต่างๆร่วมกัน

 

“นายสัตยา นาเดลลา” ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของไมโครซอฟท์ มีกำหนดเดินทางมาไทยวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมงาน Microsoft Build : AI Day พร้อมตอกย้ำความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ระหว่างไมโครซอฟท์ และรัฐบาลไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงาน Microsoft Build : AI Day นายสัตยา ได้เทียบเชิญบรรดาซีอีโอชั้นนำระดับประเทศเข้าร่วมพบปะ นอกเหนือจากพันธกิจหลักที่คาดว่า ซีอีโอ ไมโครซอฟท์จะเล่าถึงความคืบหน้า รายละเอียดความร่วมมือกับรัฐบาลไทย พร้อมเปิดโอกาสให้นักพัฒนาไทยรวมถึงองค์กรต่างๆ เข้าร่วมพูดคุย โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจในการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้งาน นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะขึ้นเวทีนี้ พร้อมกล่าวคีย์โน๊ตด้วย

เปิดทำเนียบเลี้ยงรับรอง“สัตยา” 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับซีอีโอของไมโครซอฟท์ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งจะได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการที่ไมโครซอฟท์มีแผนจะลงทุนในไทย ตามที่ได้หารือ และลงนามในความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทยและตัวแทนของบริษัทไมโครซอฟท์ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ย.ปีก่อน

 

ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยเคยได้พบกับนายสัตยาแล้วครั้งหนึ่ง ที่การประชุมเอเปค ซานฟรานซิสโก เดือน ก.ย. 2566 และได้พูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และไมโครซอฟท์มาแล้ว รวมทั้งมีการเปิดเผยถึงแผนการลงทุนว่าจะมีการลงทุนหลักแสนล้านบาทในประเทศ โดยเป็นการทยอยลงทุนต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ก่อนที่ใน เดือนพ.ย.2566 นายกรัฐมนตรี จะได้พบกับผู้บริหารของไมโครซอฟท์อีกครั้ง แล้วได้ลงนามความร่วมมือร่วมกัน พร้อมระบุว่า พันธกิจของประเทศไทยนับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน มีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน

ย้อนเอ็มโอยู ไทย-ไมโครซอฟท์

ทั้งนี้ เอ็มโอยูที่ไทย และไมโครซอฟท์ลงนามร่วมกันมีรายละเอียด ดังนี้ 1.ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัลไมโครซอฟท์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมพิจารณาแผนลงทุนก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์ และ เอไอต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท

2.ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี เอไอ เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน เอไอ (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี เอไอของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี เอไอมาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

3.เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้าไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

4.ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

สร้างผลกระทบเชิงบวกให้ไทย

ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพูดคุยและสัญญาระหว่างผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่า จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันจากนี้มีอยู่หลายเรื่องอย่างมาก รวมถึงการนำคลาวด์และเอไอมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพระบบงานของภาครัฐ เดินหน้าสู่อีกอฟเวอร์เมนท์ และการพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการใช้งานเอไออย่างเป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้านเอไอ ทั้งจะมีการแบ่งปันความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันและต่อยอดต่อไป

โดยไมโครซอฟท์จะมีการประชุมกับนายกฯ ทุก 3 เดือน เพื่อหารือ ขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ติดขัดและทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ตามแผน ภาพรวมมีโจทย์ที่สำคัญคือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลกระทบเชิงบวก มีส่วนสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่าย ยกระดับการทำงานภาครัฐ และการให้บริการภาคประชาชน

ส่วนของการจัดสรรงบประมาณ หลักๆ ทางไมโครซอฟท์จะตั้งเป็นรายปี (CAPEX) ด้านการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ จะสอดคล้องไปกับนโยบายการให้บริการระดับภูมิภาค และแผนงานด้านคลาวด์แฟบริก มีการเชื่อมโยงเพื่อใช้งานในระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งยังมีความท้าทายคือ ภาครัฐจะมีแนวทางที่สามารถปลดล็อกเรื่องการทำสัญญา ที่สามารถสนับสนุนให้การทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ อย่างไร เช่น หากเป็นสัญญาแบบข้ามปีจะทำได้ไหม จะมีแนวทางปลดล็อกเมื่อต้องมีความร่วมมือแบบระยะกลางหรือระยะยาวอย่างไร

สำหรับการร้องขอและเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอและสิทธิประโยชน์ เช่นด้านภาษี เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดระหว่างกันเพิ่มเติม โดยภาพรวมเฟสแรกจะเป็นการพูดคุยหารือถึงเงื่อนไขและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นเฟส 2 เดินหน้าสู่การโรลเอาท์ ผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม