‘เชฟรอน-โททาล-มิตซุย’ ถอนลงทุน ‘เมียนมา’ ปตท.สผ.เผชิญผลกระทบคว่ำบาตร
"เชฟรอน-โททาล-มิตซุย" ถอนลงทุนใน "เมียนมา" จับตา "ปตท.สผ." ที่ยังเป็นบริษัทผู้ลงทุนรายใหญ่แม้กำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงประเทศมหาอำนาจเตรียม "คว่ำบาตร" เมียนมา
KEY
POINTS
- บริษัทพลังงานข้ามชาติทยอยถอนการลงทุนในเมียนมานับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2564 หลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรเมียนมา
- ล่าสุดบริษัทย่อยของเชฟรอน ถอนการลงทุนในแหล่งยาดานา ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ในอ่าวเมาะตะมะ ของเมียนมา
- ปตท.สผ.ได้รับโอนหุ้นของแหล่งยาดานา ทำให้สัดส่วนหุ้นของ ปตท.สผ.เพิ่มจาก 37.1% ขึ้นมาเป็น 62.96% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
- ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ต้องรับโอนหุ้นโครงการยาดา จากบริษัทย่อยของโททาล รวมทั้งรับโอนหุ้นโครงการเมียนมา เอ็ม3 จากมิตซุย
ประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาตั้งแต่ปี 2541 โดยรับจากแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของบริษัทพลังงานหลายราย โดยหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียมาปี 2564 ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งถอนการลงทุนจากเมียนมา
ล่าสุดบริษัท Unocal Myanmar Offshore Company Limited หรือ UMOC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Chevron ได้แจ้งความจํานงค์ในการถอนการลงทุนในโครงการยาดานา และได้ดําเนินการถอนการลงทุนแล้วเสร็จ ในวันที่ 5 เมษายน 2567
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงการถอนการลงทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังการถอนการลงทุนดังกล่าว สัดส่วนการลงทุนของบริษัท UMOC ได้ถูกโอนให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ โดย ปตท.สผ.จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ 62.96% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
บล.กสิกรไทย ระบุว่า สัดส่วนขอ ปตท.สผ.ในโครงการยาดานา เปลี่ยนแปลงจาก 37.0842% เป็น 62.9630% ซึ่งปริมาณขายเฉลี่ยปี 2024 ของโครงการในสัดส่วน ปตท.สผ.จะเพิ่มขึ้น 4 KBD หรือคิดเป็น upside ประมาณ 0.8%
ทั้งนี้ ไม่ถือเป็นการซื้อขายสัดส่วนเนื่องจากเป็นการถอนการลงทุน ดังนั้น ไม่มีผลกระทบต่อกำไรขาดทุนของบริษัท ซึ่งมองเป็นกลาง เนื่องจากแม้กำไรของ ปตท.สผ.อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงที่สหรัฐจะคว่ำบาตรประเทศเมียนมามีสูงขึ้น
สำหรับโครงการยาดานาเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่ดําเนินการผลิตตั้งแต่ปี 2541 ตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา โครงการดังกล่าวมีความสําคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งไทยและเมียนมา
นอกจากนี้ หากย้อนไปนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 เกิดการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในเมียนมาหลายครั้ง โดยเมื่อปี 2565 บริษัท TotalEnergies EP Myanmar ได้ยุติการการลงทุนโครงการยาดานา และบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) กลุ่ม ปตท.สผ.ได้รับเข้าเป็นผู้ดำเนินการของโครงการ
โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมทุนของโครงการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ซึ่งทำให้สัดส่วนการลงทุนของ ปตท.สผ.ในปี 2565 มาอยู่ที่ประมาณ 37.1%
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยอมรับในรายงานการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการสำหรับผลการดำเนินงาน (MD&A) ในไตรมาส 3 ปี 2565 ว่า ในช่วงโควิด-19 และสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกทำให้การดำเนินการในบางกิจกรรมมีความล่าช้า
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.สผ.ได้เตรียมการตามแผนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management หรือ BCM) มีการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาแผนการดำเนินงาน และวางแผนรองรับตามความเหมาะสม
รวมทั้ง ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้ดำเนินโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ (Exploration Phase) ในเมียนมา คือ โครงการเมียนมา เอ็ม 3 อยู่ในขั้นตอนรอการพัฒนา โดยตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเล อ่าวเมาะตะมะ
สำหรับโครงการเมียนมา เอ็ม 3 ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาโครงการจากรัฐบาลเมียนมาในเดือนเมษายน 2564 โดยกลุ่ม ปตท.สผ.มีสัดส่วนการลงทุนในโครงการ 100% หลังจากที่บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Limited (MOECO) ได้ขอยุติการลงทุนตามสัญญาร่วมทุน ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมาแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2565
โครงการเมียนมา เอ็ม 3 จึงเป็นอีกโครงการที่บริษัทต่างชาติได้ถอนการลงทุนออกจากเมียนมาหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2564