'ปตท.' แนะ 'ไทย-กัมพูชา' เลิกแบ่งพื้นที่ ร่วมดึงทรัพยากร เพิ่มมูลค่าธุรกิจ
"ปตท." ลั่น "ไทย-กัมพูชา" ต้องเลิกแบ่งพื้นที่ ร่วมหาทางออกทางธุรกิจ ดึงทรัพยากรใต้ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย มองราคาน้ำมันปีนี้อยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวการในงานเสวนา Thailand Energy Executive Forum หัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) ในมุมของ ปตท. อาจยกมีโมเดลพื้นที่ไทย-มาเลเซีย ที่ให้ศึกษาเป็นตัวอย่างได้ ดังนั้น เรื่องการแบ่งดินแดนไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา
ทั้งนี้ หากหารือกันในเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย และหากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวกเช่นเดียวกัน
"โมเดลที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและให้กัมพูชามาลงทุนกับเราเพื่อแบ่งส่วนแบ่ง 50% ที่จะเป็นของเขาไปก็ได้ เพราะโมเดลด้านธุรกิจนั้นไม่ยาก แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ พูดตรง ๆ เลยว่ากัมพูชาไม่น่าจะมีปัญหา มีแต่บ้านเรานี่แหละที่พูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง เราน่าจะต้องลด ๆ ในตรงนี้หน่อยเพื่อให้เกิดข้อสรุปได้ จะได้ไม่มีปัญหา"
อย่างไรก็ตาม ปตท. มีภารกิจคือ สร้างความมั่นคงพลังงานของประเทศ ไม่ว่าหน้าตาของพลังงานประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนก็จะต้องตามไปทำ ที่ผ่านมาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และสภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้ราคาก๊าซในช่วงที่เกิดสงครามรัสเซียและยูเครนเพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่มีสถานการณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ
ทั้งนี้ ความคลี่คลายจากสถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ราคาพลังงานในปี 2567 จะลดลง ราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 101-102 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติก็จะลดลงมาอยู่ในกรอบ 7-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจปะทุขึ้นมาอีก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของโลก สภาพภูมิอากาศในแหล่งผลิต และการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน
"ยอมรับว่าพลังงานทุกรูปแบบของเราที่ใช้อยู่ ต้องมีการนำเข้า แต่ในภาคของความมั่นคง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานยังมีความแข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารจัดการของ ปตท. และนโยบายของภาครัฐสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤติมาได้ตลอด ทำให้ปริมาณน้ำมันในประเทศไม่ขาดแคลน"
นายอรรถพล กล่าวว่า ผ่านมา ปตท. ได้เข้าร่วมประชุมใน World Economic Forum 2024 ได้มีการตั้งโหวตความคิดเห็นในประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดความกังวลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผลที่ออกมาในระยะสั้น 2 ปี กลุ่มผู้นำส่วนใหญ่กังวลในเรื่องของเทคโนโลยี และการบิดเบือนข้อมูล โดยตระหนักไปถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เรื่องรองลงมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือผลโหวตระยะยาวช่วง 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่กังวลคือ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพรากระทบมายังพลังงาน ซึ่งในประเทศไทย ภาพรวมการใช้พลังงานก็มีการอ้างอิงกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว โดยเรื่องแรกที่จะมีการปรับเปลี่ยนคือ การลดใช้ถ่านหิน และในปี ค.ศ. 2030 การใช้น้ำมันจะเริ่มลดลง ขณะที่ก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงสุดท้ายที่เหลืออยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทน
นายอรรถพล กล่าวว่า เป้าหมายพลังงานในประเทศ จะต้องยึด 3 หลักสำคัญ คือ
1. พลังงานต้องมีความมั่นคงเข้าถึงได้
2. ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน (CCS) และ
3. ต้องมีราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในอนาคตเชื้อเพลิงไฮโดนเจนเป็นเรื่องที่น่าสน ซึ่งหากมีหน่วยงานเข้ามาอุดหนุนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นโครงการต้นแบบประเทศไทยก็จะสามารถก้าวได้ทันกระแส
"ปตท. มองว่าไฮโดนเจนกับด้านการคมนาคมหรือยานยนต์นั้นอาจจะพัฒนาได้ยาก เนื่องจากตอนนี้เสียงยังถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายจากกลุ่มประเทศญี่ปุ่นที่เห็นด้วยและเร่งพัฒนาใช้ไฮโดนเจน กับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ยังมองเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ก่อน เพราะโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาไม่เหมือนกัน"
ขณะที่ไฮโดนเจนกับภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเทคนิคทำได้ทั้งหมดแล้วสามารถแปลงสภาพ ขนส่ง และนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว แต่เรื่องสำคัญคือเรื่องต้นทุน ถ้ามีการสนับสนุนให้ต้นทุนราคาถูกได้ จะสามารถนำเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ได้ เป็นอนาคตที่น่าสนใจ โดยใน กลุ่ม ปตท. มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมลงทุนกับประเทศโอมาน เพื่อพัฒนากรีนไฮโดนเจน เป็นต้น