ซีพีเอฟ ห่วง หมู กุ้ง ปรับแผนรุกตลาดในประเทศ ดึงราคา
ซีพีเอฟ ชี้ไตรมาสแรก ปี 67 เศรษฐกิจยังไทย-โลก ฟื้นตัวไม่ดี ต้นทุนการผลิตสูง หมู กุ้ง ราคาตกต่ำ ปรับแผนธุรกิจหันรุกตลาดในประเทศมากขึ้น เร่งช่วยเกษตรกรคู่ค้า ยกผลผลิตขายช่องทางในเครือ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน ) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากการระบาดของโควิด 19 สงบลง ทำให้ซีพีเอฟปรับแผนธุรกิจสินค้าหลายชนิด หันมารุกตลาดในประเทศมากขึ้น ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 67 ต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตอาหารโดยรวมยังสูงขึ้น สินค้าที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ที่ชัดเจนคือกลุ่มสุกร ที่กำลังประสบภาวะล้นตลาด ราคาตกต่ำ เป็นผลมาจากก่อนหน้านี้ที่เกิดปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF)ระบาด ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ทำให้มีเนื้อสุกรเถื่อนทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรของไทยร่วมกับภาครัฐเร่งปรับปรุงระบบการเลี้ยง ทำให้มีผลผลิตสุกรในประเทศเพียงพอกับความต้องการ เมื่อยังไม่สามารถปราบปรามเนื้อสุกรเถื่อนได้อย่าง100% เนื้อสุกรในประเทศจึงมีปริมาณเกินความต้องการอยู่ ประกอบกับอัตราการบริโภคเริ่มชะลอตัว ทำให้ราคาเนื้อสุกรของไทยมีทิศทางลดลง
สำหรับเนื้อสุกรของลูกเล้าซีพีเอฟ นั้นทางบริษัทได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยรับซื้อและสนับสนุนให้จำหน่วยในช่องทางของเครือ ทำให้เกษตรกรพอใจและได้รับราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีกุ้ง ที่ราคาตกต่ำ และซีพีเอฟหันมารุกตลาดในประเทศมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากที่เอกวดอร์เพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ราคากุ้งในตลาดโลกตกต่ำ ในขณะที่ไทยมีผลผลิตโดยรวม เพียง 3 แสนตันได้รับผลกระทบไปด้วย การผลักดันการส่งออกจะแข่งขันได้ลำบาก เพราะต้นทุนของไทยสูงกว่า แม้ว่ากุ้งไทยจะมีข้อได้เปรียบในด้านคุณภาพ แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และเลือกซื้อกุ้งราคาถูก
“ในฐานที่ซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ได้คำนึงถึงปัญหาต่างๆเหล่านี้ และได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า ภายใต้โครงการPartner to Grow ล่าสุดได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมภาคเหนือ แนะนำให้ปลูก 2 ฤดูกาลใน1 ปี ส่งขายให้ซีพีเอฟที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับระบบการผลิตหันมาใช้กระเทียมสดมากขึ้นทดแทนกระเทียมแห้ง เพื่อให้รสชาติที่อร่อยกว่า หากเกษตรกรสามารถปลูกกระเทียมได้ 2 ครั้ง จะทำให้มีกระเทียมทดแทนได้ประมาณ70-80 % “
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนมี.ค. 2567 ของกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญ รวมทั้งทิศทางราคาทั้งปี 2567 พบว่า
ข้าวหอมมะลิ (ความชื้น 15%)ราคาที่เกษตรกรขายได้ เดือน มี.ค. 2567 ราคา 14,226 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ เดือนมี.ค.ม 2566 ที่ราคา 13,426 บาทต่อตัน ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%)ราคา11,293 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ เดือนมี.ค. 2566 ที่ราคา 9,760 บาทต่อตันส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก ไม่ให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
โดยมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ประกอบกับผลผลิตที่ลดลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่ต่างประเทศมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลงและต้องการสำรองข้าวไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมถึงประเทศอินเดียยังคงประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ
ส่งผลให้หลายประเทศเปลี่ยนมาซื้อข้าวจากไทยมากขึ้น จึงเป็นแรงผลักให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น สำหรับ ปี 2567 คาดว่าราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดีใกล้เคียงกับปี 2566 เนื่องจากข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับปี 2566 หลายประเทศประสบกับปัญหาภัยแล้งปริมาณผลผลิตที่เก็บสำรองไว้ในสต็อกลดลง จึงคาดว่าต่างประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
ยางพาราราคายางแผ่นดิบ เดือน มี.ค. 2567 ราคา 76.43 บาทต่อ กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ เดือนมี.ค. 2566 ที่ราคา 44.77 บาทต่อกก. โดยราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายไม่ให้ทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น
โดยปี 2567 คาดว่าราคายางพาราในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการคาดการณ์ความต้องการยางพาราในตลาดโลกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาตลาดล่วงหน้า และราคาตลาดภายในประเทศ
ปาล์มน้ำมัน ณ เดือน มี.ค. 2567 ราคา 5.45 บาทต่อ กก. ราคาใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของ เดือนมี.ค. 2566 ที่ราคา 5.54 บาทต่อ กก. เนื่องจากราคาผลปาล์มน้ำมัน เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศและในตลาดโลก ที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากปริมาณผลผลิตน้ำมันพืชของโลกที่มีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาผลปาล์มน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ยังได้เห็นชอบการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณการผลิต การใช้ และการส่งออก รวมถึงปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่ในระดับที่สมดุล
โดยในปี 2567 คาดว่าราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศจะมีปริมาณลดลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
มันสำปะหลังปัจจุบันราคาหัวมันสำปะหลังสดคละ เดือน มี.ค. 2567 ราคา 3.03 บาทต่อ กก. ราคาใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของ เดือนมี.ค. 2566 ที่ราคา 3.05 บาทต่อกก. เนื่องจากผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด โดยรัฐบาลได้มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ทั้งจากโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ประกอบกับผลผลิตในภาพรวมของประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตแอลกอฮอลล์ อาหารสัตว์ กระดาษ เครื่องดื่ม และสิ่งทอ
โดยปี 2567 คาดว่าราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจะใกล้เคียงกับปี 2566 เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ เดือน มี.ค. 2567 ราคา 8.86 บาทต่อกก. ลดลงจากเดือนมี.ค. 2566 ที่ราคา 11.08 บาทต่อกก. เนื่องจากในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน - รัสเซียยังไม่ยุติ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ราคาเริ่มปรับตัวลดลงสู่สภาวะปกติ แต่ราคาก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี
สุกร ณ เดือน มี.ค. 2567 ราคา 64.06 บาทต่อ กก. ลดลงจากช่วงเดียวกันของ เดือนมี.ค. 2566 ที่ราคา 87.75 บาท ต่อ กก. เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงชะลอตัว ซึ่งรัฐบาลได้มีการเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง รวมทั้งกรมปศุสัตว์มีการผลักดันโครงการรรักษาเสถียรภาพราคาสุกร โดยการตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหัน ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อขอใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) กรมการค้าภายใน หากสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้จะส่งผลให้ราคาสุกรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้
ไก่เนื้อ ณ เดือน มีนาคม 2567 ราคา 40.52 บาทต่อกก. ลดลงจากช่วงเดียวกันของ เดือนมีนาคม 2566 ที่ราคา 44.70 บาทต่อกก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปี 2567 คาดว่าราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้จะสูงขึ้นจากปี 2566 เนื่องจากมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ