เปิดความเห็น 'แบงก์ชาติ' ตั้ง 3 ประเด็น ดิจิทัลวอลเล็ต แนะรัฐแจง 'แหล่งเงิน'
เปิดความเห็น ธปท.ให้ความเห็นต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ชี้แหล่งที่มาของวงเงินต้องชัดตั้งแต่แรก ระบุใช้งบกลางฯต้องชี้แจงได้ว่าฉุกเฉินเฉินจำเป็น การทำงบฯกลางปีต้องอธิบายเหตุผลได้ ส่วนหากใช้มาตรา 28 ต้องตั้งงบฯไปใช้คืนให้เพียงพอ จี้ทำแล้วต้องคุ้มค่ากับเศรษฐกิจ
การประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่) ครั้งที่ 3 /2567 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานวันนี้ (10 เม.ย.2567) ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นพิเศษในวงกว้าง โดยนายกรัฐมนตรียืนยันมาตลอดว่าในวันที่ 10 เม.ย.จะมีความชัดเจนทุกอย่างในโครงการนี้โดยเฉพาะแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการวงเงิน 5 แสนล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวในการปรับกรอบวงเงินงบประมาณ 2568 ให้ขาดดุลฯเพิ่มขึ้นกว่า 1.52 แสนล้านบาทเพื่อรองรับ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ส่วนวงเงินที่จะใช้จากในโครงการที่เหลืออีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลระบุว่าจะให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ในวันนี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการฯชุดใหญ่ในครั้งนี้นอกจากการให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของเงินในโครงการ จะมีการกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมถึงจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ด้วย
สำหรับการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตฯครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 27 มี.ค.มีความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เกี่ยวกับโครงการนี้
สำหรับการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตฯครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 27 มี.ค.มีความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เกี่ยวกับโครงการนี้
โดย ธปท.ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้รับทราบผลการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินของโครงการฯ และข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในการดำเนินโครงการฯ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 1/2567 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้กำหนดให้มีการนำเสนอแนวทางการปรับปรุงการดำเนินโครงการฯ ต่อคณะกรรมการฯ นั้น
เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมการฯ มีความครบถ้วนและรอบคอบ ก่อนนำสนอต่อคณะรัฐมนตรี ธปท. มีความเห็นในเบื้องต้นว่า ฝ่ายเลขานุการฯ และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการ ควรศึกษาและนำเสนอข้อมูลที่มีความชัดเจนต่อคณะกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
1. ประเด็นแหล่งเงินของโครงการฯ
โดยข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการที่ครบถ้วนชัดเจน โดย ธปท. เห็นว่าหากจะเสอนอให้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ควรมีการศึกษาและนำเสนอข้อมูลแหล่งเงินงบประมาณ ประมาณการวงเงินงบประมาณที่อาจนำมาใช้ได้ และแนวทางในการบริหารงบประมาณรายจ่ายรายการต่าง ๆ ให้ชัดเจน
ธปท.เข้มเกณฑ์ตั้งงบประมาณเพิ่ม
นอกจากนี้ ควรพิจารณาว่า การใช้เงินงบประมาณตามที่ระบุนั้น สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ซึ่งหากยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องตีความหรือวินิจฉัย ควรหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ได้ข้อยุติเช่นเดียวกับที่เคยหารือในช่วงก่อนหน้า เช่น
- หากเสนอให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่าเป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นที่ไม่อาจใช้งบประมาณที่จัดสรรไว้แล้ว
- หากเสนอให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ควรชี้แจงได้ชัดเจนถึงเหตุผลในการใช้เงินและแหล่งเงินที่พึ่งได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
- หากเสนอมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลรับภาระ จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่าการดำเนินการนั้นอยู่ในหน้าที่ อำนาจ และขอบวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นหรือไม่ พร้อมทั้งจะบริหารจัดการภาระทางการคลังและผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานนั้นอย่างไร
ธปท.ถามโครงการคุ้มค่าหรือไม่
2 .ความจำเป็นและความคุ้มค่าของการใช้เงิน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย
วินัยการเงินการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่า การดำเนินโครงการนี้เป็นการดำเนินนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้พิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐโดยครบถ้วนรอบคอบแล้ว
2. การพัฒนาและดำเนินการระบบเติมเงินผ่าน Digital Wallet
ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการระบบเติมเงินผ่าน Digital Wallet ที่มีความขัดเจน ทั้งในส่วนของหน่วยงานผู้พัฒนาและดำเนินการระบบ ซึ่งหากเป็นหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย มีขีดความสามารถและประสบการณ์ รวมทั้งมีความพร้อมและทรัพยากรเพียงพอในการพัฒนาและดำเนินการระบบที่มั่นคงปลอดภัย มีความเสถียร และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับธุรกรรม ที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ตลอดจนสามารถดูแลคุ้มครองช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก
โดยความขัดเจนเกี่ยวกับระบบ โดยหากไม่ใช้ระบบที่ดำเนินการอยู่แล้ว ควรมีรายละเอียดของระบบใหม่ที่ชัดเจน อาทิ ข้อมูลเบื้องตันเกี่ยวกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของระบบขั้นตอนการทำธุรกรรม รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสามารถทำธุรกรรมได้ตามเงื่อนไขของโครงการ นอกจากนี้ จะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ (KYC) ของประชาชนและร้านค้าอย่างรัดกุมเพิ่มเติมด้ว
เสนอแนวทางลดทุจริตโครงการ
3. การลดความเสี่ยงต่อการทุจริต แนวทางการเข้าร่วมโครงการของประชาชนและร้านค้าที่ชัดเจน โดยต้องกำหนดแนวทาง และมาตรการในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตในลักษณะต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบสิทธิของประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ การลงทะเบียนร้านค้าในลักษณะนอมินี การทำธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ
เช่น การโอนสิทธิ์ให้แก่กันโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าจริง และการใช้จ่ายซื้อขายสินค้าที่ต้องห้ามและแนวทางการป้องกันการขายลดสิทธิระหว่างประชาชน เป็นต้น