ธุรกิจ EV แข่งขันรุนแรง OR แจงผู้ถือหุ้นปรับใช้เงิน IPO กว่า 2.5 หมื่นล้าน
OR แจงผู้ถือหุ้น ปรับการใช้เงิน IPO กว่า 2.5 หมื่นล้าน พร้อมรับมือตลาดอีวีบูม หนุนลงทุนอีโคซิสเต็มสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เดินหน้าลงทุนสถานีชาร์จในปั๊มน้ำมันรับการใช้งาน พร้อมจ่ายปันผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 66 ที่ 0.27 บาทต่อหุ้น กำหนดนจ่าย 29 เม.ย. นี้
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้จัดประชุมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 วันที่ 10 เม.ย.2567 เป็นการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระหว่างการประชุมมีการสอบถาม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น OR ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ OR และการปรับการใช้เงิน IPO กว่า 2.5 หมื่นล้าน เป็นต้น โดยมีนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ OR ทำหน้าที่ประธานการประชุม
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 11,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 724 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% โดยจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 598 ล้านบาท จากปริมาณขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม จากราคาจำหน่ายน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีระดับต่ำกว่า ส่งผลให้รายได้ขายและบริการลดลง 20,651 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงาน กลุ่มธุรกิจ Mobility ยังคงแข็งแกร่ง มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรเติบโตขึ้นเล็กน้อย แม้ว่ากลุ่มธุรกิจ Global มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรโดยรวมจะอ่อนตัวลงตามสภาวะตลาดก็ตาม นอกจากนั้นกลุ่มธุรกิจ Lifestyle สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.92 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 7% พร้อมเห็นชอบจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 2566 ที่อัตรา 0.27 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 3,240 ล้านบาท กำหนดจ่ายปันผลวันที่ 29 เม.ย. 2567
นายดิษทัต ตอบคำถามผู้ถือหุ้นว่า ในปี 2566 ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ OR มากน้อยเพียงใดนั้น ยืนยันว่า อีวีถือเป็นโอกาสของการดำเนินธุรกิจ OR เดินหน้าภายใต้กลยุทธ์ในการวางโครงสร้างพื้นฐานตามนโยาบรัฐบาล ซึ่งอีโคซิสเต็ม OR มีความพร้อมรองรับ ปัจจุบันติดตั้งสถานีชาร์จครบทุกจังหวัด อีกทั้งยังพยายามขยายไปให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพลังงานสะอาด ซึ่งเมื่อเข้ามาใช้บริการจะเจอกับกิจกรรมมากมาย อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่อเมซอน ซึ่งจะช่ายต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้ดี
อย่างไรก็ตาม OR ถือเป็นหนึ่งในคู่ค้ามาตรา7 การดำเนินธุรกิจจึงไม่แตกต่างกับรายอื่น ซึ่งค่าการตลาดที่ได้รับถือว่ามีความเหมาะสมเป็นตามทิศทางนโยบายรัฐ ส่วนนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน OR ถือเป็นอีก 1 ในองค์ประกอบช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นได้สอบถามถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้สอบบัญชีว่าใช้เกณฑ์อะไร ทั้งนี้ OR ได้ยืนยันว่า การคัดเลือกส่วนใหญ่มีหลักเกณฑ์ คุณสมบัติทั่วไปทั้งผลการดำเนินงาน และราคาเป็นไปตามหลักการณ์พ.ร.บ. หลักการจ้างของภาครัฐ ตามข้อกำหนดที่มีการกำหนดราคากลาง เป็นต้น
นายดิษทัต ตอบคำถามจากการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 มีมติอนุมัติการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อให้คล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยขยายขอบเขตของวัตถุประสงค์ให้ครอบในทิศทางเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
รวมถึงได้มีการจัดกลุ่มของวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนใหม่จากวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนตามหนังสือชี้ชวนเดิมปี 2564-2568 รวมมูลค่า 53,497 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. การขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน วงเงิน 13,300 ล้านบาท
2. การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ วงเงิน 3,800 ล้านบาท
3. การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน วงเงิน 8,500 ล้านบาท
4. การขยายเรือข่ายร้านค้าปลีก วงเงิน 9,800 ล้านบาท และ
5. การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ วงเงิน 9,500 ล้านบาท
6. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและ/หรือชำระคืนเงินกู้ยืม (ถ้ามี) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย วงเงิน 8,597 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นการใช้เงินทุนที่อนุมัติใหม่ ปี 2564-2568 รวมมูลค่า 53,497 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Mobility ประกอบด้วย การขยายเครือข่ายสถานีบริการ รวมการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการบริหารพื้นที่, การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ รวมพลังงานทางเลือก และการขยายเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าเพื่อธุรกิจ Mobility วงเงิน 25,600 ล้านบาท
2. การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ประกอบด้วย การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก การลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ Lifestyle ลูกค้า เช่น Health & Wellness, Beauty, Digital Platform เป็นต้น วงเงิน 9,800 ล้านบาท
3. การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Global โดยการลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ วงเงิน 9,500 ล้านบาท
4. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและ/หรือชำระคืนเงินกู้ยืม (ถ้ามี) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย วงเงิน 8,597 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนการลงทุนปี 2564-2568 บริษัทฯ ยังเหลือเงินลงทุนอีก 25,397 ล้านบาท
นายดิษทัต กล่าวว่า เนื่องจากการเติบโตของอีวี OR จึงต้องขยายเครือข่ายสถานีชาร์จเพิ่มขึ้น บวกกับภาวะการแข่งขันธุรกิจ รวมถึงการเกิดเทคโนโลยีใหม่ ปัจจัยสนองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแผนธุรกิจเดิมที่ใช้กำหนดในการเสนอขายเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ต้องเสนอการปรับเงินเพิ่มทุนใหม่ เพื่อให้การบริหารจัดการสอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรในปัจจุบันจากสภาะการแข่งขันที่รุนแรง
"OR ได้เล็งเห็นถึงกลยุทธ์ 4 พันธกิจ โดยจะขยายสถานีบริการต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มสถานีชาร์จอีวีที่จะเพิ่มเป็น 7 พันหัวจ่าย และขยายพอร์ทด้านพลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟ สนับสนุนดิจทัล, เน้นลงทุนประเทศเป้าหมาย เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ที่ยังมีโอกาสขยายได้อีกเยอะ" นายดิษทัต กล่าว