ถอดรหัส 2 'แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ' รัฐบาล ตั้งเป้าดันจีดีพีโตต่อเนื่องปี 67 - 68
รัฐบาลเศรษฐาดัน 2 แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ปั๊มจีดีพี 2 ปี 67 - 68 ส่งมาตรการกระตุ้นอสังหาฯดันจีดีพีปี 67ไปถึงปี 68 หวังจีดีพีโต 1.7 - 1.8% ส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตมีผลปี 68 หวังเศรษฐกิจหมุนเวียนโตเพิ่มได้ 1.2- 1.8% "จุลพันธ์" เผยหวังเห็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจติดเคลื่อนจีดีพีโต5%
หลังจากที่เข้ามาบริหารประเทศได้ 7 เดือนเต็ม รัฐบาล "เศรษฐา1” ได้ประกาศมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา 2 มาตรการ โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในระหว่างปี 2567 – 2568 โดย 2 มาตรการรัฐบาลประกาศออกมาในช่วงก่อนสงกรานต์ปีนี้แล้ว ได้แก่
1.มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อเตรียมการรองรับการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision)
โดยมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลในปี 2567 และมีบางส่วนที่ส่งผลไปยังปี 2568 เช่นมาตรการลดภาษีจากการสร้างบ้านใหม่ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการนี้มีผลหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.7 - 1.8%
2.มาตรการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ที่ทำเนียบรัฐบาล ไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการนี้รัฐบาลจะคิกออฟเริ่มเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จากนั้นในไตรมาสที่ 4 จะเริ่มเติมเงินในวอลเล็ตของประชาชน 50 ล้านคน และให้เริ่มใช้งานผ่านซุปเปอร์แอพที่รัฐาลออกแบบไว้
โดยโครงการนี้จะมีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 2568 โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.2 – 1.8%
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาต่อเนื่องกันตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2568 ถือว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยที่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 นั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยนั้นขยายตัวได้ประมาณ 2% เท่านั้น ต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรจะขยายตัวได้ในระดับ 4 – 5%
ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาการขยายตัวต่ำของเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาก่อนการเกิดโควิด-19 เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ก็จำเป็นที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
หวังดันเศรษฐกิจโต 5%
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังกล่าวว่าหลังจากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วรัฐบาลตั้งความหวังเต็มที่ว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยจะจุดติดและขับเคลื่อนได้และกลับไปขยายตัวได้ใกล้เคียงกับระดับ 5% ต่อปีตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ตอนแรก
นอกจากนี้รมช.คลังยังกล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจาก เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวที่ระดับ2.7% ต่อปี เป็นระดับที่ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานเคยประเมินไว้ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เมื่อพิจารณาเทียบ GDP ในไตรมาสที่ 4 กับ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขจัดผลของฤดูกาล (Seasonally Adjusted) พบว่า GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 หดตัว 0.6%
ชี้ดอกเบี้ยสูงกดดันเศรษฐกิจ
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่ไม่เท่ากันหลังจากช่วงโควิด19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า
ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ เศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน ในขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจปัจจุบัน ควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลัง รวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงิน การคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
โดยโครงการฯ จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร ฯลฯ ส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย
..แม้ว่ากระทรวงการคลังและทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลจะคาดการณ์ว่ามาตรการเศรษฐกิจทั้งสองมาตรการจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญก็คือการติดติดและกำกับโครงการให้สามารถสร้างผลบวกกับเศรษฐกิจในวงกว้างและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติได้มากที่สุด