IMF หั่น คาดการณ์จีดีพีไทย ปี 2567 ลงเหลือ 2.7% หลัง 'บริโภคในประเทศ' หดตัว
"ไอเอ็มเอฟ" หั่นคาดการณ์จีดีพีไทย ปี 2567 ลงเหลือ 2.7% จากรายงานฉบับก่อนหน้าที่ 4.4% ด้าน "ดร.จิติพล" เผยไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์ตามแบงก์ชาติ หลังเชื่อการบริโภคในประเทศหดตัว
หลังจาก ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย เปิดเผยในงานแถลงข่าวระหว่างการประชุมฤดูใบไม้ผลิประจำปี 2567 ว่า คณะกรรมการฯ ได้ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 เป็น 3.2% จากเดิม 3.1%
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ กลับปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีแท้จริง (Real GDP) ประเทศไทยตลอดปี 2567 ไปอยู่ที่ 2.7% จากเดิมอยู่ที่ 4.4 ในเดือนม.ค. แม้ยังปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของปี 2568 จากรายงานฉบับเดิมที่ 2.0% มาอยู่ที่ 2.9%
รายงานไอเอ็มเอฟ ฉบับเดือน ม.ค.
ด้าน ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า สาเหตุที่แท้จริงของการปรับลงต้องรอรายงานฉบับย่อยของไอเอ็มเอฟต่อไป แต่หากพิจารณาจากตัวเลขไอเอ็มเอฟน่าจะปรับลดคาดการณ์ตามรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
รายงานไอเอ็มเอฟ ฉบับเดือน เม.ย.
รายงานฉบับล่าสุดของ ธปท.ปรับลดคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์ภายในประเทศลงเหลือ 3.1% ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐเหลือ 1% ทั้งหมด จึงทำให้ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การเติบโตการบริโภคภายในประเทศของไทยลงเหลือ 3% จากรายงานฉบับก่อนคือประมาณ 6%
“ตัวเลขการเติบโต 4.4% มีแค่แบงก์ชาติกับไอเอ็มเอฟเท่านั้นที่คาดการณ์ไว้ แต่พอตัวเลขจริงต่างๆ มันออกมาก็ทำให้เขาต้องปรับลดลง เห็นชัดเลยว่าแบงก์ชาติกับไอเอ็มเอฟคุยกัน”