เกาะติด ‘สงครามอิสราเอล-อิหร่าน’ กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?

เกาะติด ‘สงครามอิสราเอล-อิหร่าน’ กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน?

“คลัง” จับตาสถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่านใกล้ชิด ประเมินผลกระทบการค้าระหว่างประเทศและราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2567 โดยอิหร่านระดมยิงขีปนาวุธ และโดรนหลายร้อยลูกใส่อิสราเอล ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสกัดไว้ได้ 

โดยก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่อยู่ในวงจำกัดและการหาทางออกของความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น 

ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เช้าตรู่วันนี้ (19 เม.ย.) ตามเวลาตะวันออกกลาง อิสราเอลเปิดการโจมตีเอาคืนอิหร่าน 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค. ยังคงติดตามเหตุการณ์ที่อิสราเอลโจมตีกลับอิหร่านอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบต่อไป

โดยเบื้องต้นที่ สศค.ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 5 ด้าน ดังนี้ 

1. ตลาดเงินและตลาดทุนโลกและไทยมีความผันผวน สถานการณ์ความขัดแย้งทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสะท้อนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปสู่สินทรัพย์หลักที่นักลงทุนประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำ 

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเช่นเดียวกัน ประกอบกับยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การกำหนดวันจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลง 

2. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า ราคาน้ำมันดิบและราคาทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังเหตุการณ์ความขัดแย้ง

ทั้งนี้ ประเมินว่าประเทศอิหร่านมีสัดส่วนส่งออกน้ำมันดิบเพียง 1.5% ของการส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามว่าความขัดแย้งจะลุกลามหรือไม่

3. การค้าระหว่างประเทศของไทยได้รับผลกระทบน้อย โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอิสราเอลเพียง 0.27% และอิหร่าน 0.05% ของมูลค่าการส่งออก 284.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2566 

ขณะที่การนำเข้าของไทยจากประเทศอิสราเอลมีสัดส่วนที่ต่ำเพียง 0.15% และอิหร่านอยู่ที่ 0.003% ของมูลค่าการนำเข้า 289.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 

4. การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจำกัด โดยไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศอิสราเอลและอิหร่านเพียง 1.0% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดในปี 2566 โดยมีการใช้จ่ายคิดเป็น 1.9% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2566 ดังนั้น จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยไม่มากนัก

5. การลงทุนของไทยกับประเทศอิสราเอลและอิหร่านยังมีมูลค่าที่น้อยมาก โดยข้อมูลการลงทุนระหว่างประเทศพบว่ายอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากอิหร่านในไทย ในปี 2566 มีมูลค่าอยู่น้อยมากที่ 16.08 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพียงสัดส่วน 0.01% ของมูลค่ายอดคงค้างเงินลงทุนรวมจากต่างประเทศในไทยทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ในด้านการลงทุนระหว่างไทยและประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ยอดคงค้างเงินลงทุนโดยตรงจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางในไทย พบว่า ในปี 2566 มีมูลค่าอยู่เพียง 714.85 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพียงสัดส่วน 0.23% ของมูลค่ายอดคงค้างเงินลงทุนรวมจากต่างประเทศในไทยทั้งหมด ทำให้ผลกระทบด้านการลงทุนโดยตรงจากตะวันออกกลางมายังไทยอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากเนื่องจากสัดส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิจากภูมิภาคดังกล่าวมีสัดส่วนที่ต่ำ