สงครามอิสราเอล-ฮามาสยืดเยื้อ ฉุด "ส่งออก"ไทยไปอิสราเอลลดลง

สงครามอิสราเอล-ฮามาสยืดเยื้อ  ฉุด "ส่งออก"ไทยไปอิสราเอลลดลง

สคต.กรุงเทลอาวีฟ รายงานสถานการณ์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำมูลค่าการส่งออกจากไทยลดลง โดยเฉพาะการส่งออก รถยนต์และส่วนประกอบ ลดลง 81 % หลุดอันดับ 1 หวั่นสงครามยืดเยื้อรุนแรงต่อเนื่องฉุดเศรษฐกิจอิสราอลและภูมิภาคตะวันออกกลาง

Key Point

  • -สงครามอิสราเอล-ฮามาส ฉุดจีดีพีอิสราเอลปี 66 เหลือ 2 %
  • -ตุรกีตัดสินใจแบนส่งออกสินค้า 54 รายการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างไปยังอิสราเอล
  • -การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ปัจจุบัน 2567 (ม.ค.-ก.พ.)มูลค่า 3,961 ล้านบาท  ลดลง  146%  

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานสถานการณ์ล่าสุดสงครามในอิสราเอล ผ่านเว็ปไซต์ ระบุว่า  สงครามอิสราเอล-ฮามาส ยืดเยื้อมาร่วม  6 เดือน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของอิสราเอล จากข้อมูลสถิติมูลค่าการค้าในเดือนต.ค. 2566 ที่สงครามเริ่มต้น มีตัวเลขการค้าลดลง และอัตราการเติบโตของ GDP ของอิสราเอลในปี 2566 ลดลงเหลือ 2% โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 จะลดลงจากที่เคยคาดการไว้ตอนก่อนเกิดสงครามว่า GDP จะเติบโต 3-4%  แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ที่ภาคกลางอิสราเอลค่อนข้างปกติ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ รัฐบาลอิสราเอลก็ได้ออกมาเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง โดยประชาชนควรจะสำรองน้าดื่มอาหารเครื่องสำรองไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉินด้วย ในขณะที่ยังมีการร้องเรียนการประท้วงให้ช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกฮามาสจับตัวไปอย่างเร็วที่สุดด้วย

 

ด้านตุรกีตัดสินใจที่จะห้ามส่งออกสินค้า 54 รายการไปยังอิสราเอล  

โดยรัฐบาลตุรกีกำลังชะลอหรือไม่อนุมัติการส่งออกจากตุรกีไปยังอิสราเอล ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ผู้นำเข้าของอิสราเอลกล่าวว่าสาเหตุของความล่าช้าคือทางการรัฐบาลตุรกีห้ามการส่งออกมายังอิสราเอล และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะห้ามต่อไปอีกนานหรือไม่ ซึ่งรายการสินค้าที่ห้ามส่งออกเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เครื่องจักร เคมี เช่น เหล็ก กระจกสำหรับการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์กันซึม หินอ่อน กระเบื้อง ท่อพลาสติก สีตัวทำละลาย เครื่องเดินสายไฟ Lightening Products รถเครน สารเคมี กำมะถัน น้ำมันแร่ เครื่องจักรแปรรูปโลหะ และปุ๋ยเคมี เป็นต้น  ซึ่งการส่งออกจากตุรกียังอิสราเอล ปี 2023 มูลค่า 5.42 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์

สำหรับการค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ปัจจุบัน 2567 (ม.ค.-กพ.) อิสราเอล เป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยไทยส่งออก มีมูลค่า 3,961 ล้านบาท  ลดลง  146%  และนำเข้าจากอิสราเอล 2,608 ล้านบาท  ขยายตัว  8.70 %

สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.-กพ.)  เรียงลำดับ ดังนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ

สินค้านำเข้าสำคัญจากอิสราเอล 5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.)  ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้แผงวงจรไฟฟ้า

ด้านผลกระทบต่อไทยตั้งแต่เริ่มสงครามอามาสเมื่อเดือนต.ค.2566 พบว่า มูลค่าการส่งออกจากไทยลดลง โดยสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ปัจจุบัน 2567 (ม.ค.-กพ.)  ได้เปลี่ยนแปลงอันดับจากปี 2566 มีข้อสังเกตว่ามูลค่าการส่งออก รถยนต์และส่วนประกอบ  ที่เคยเป็นอันดับหนึ่งมาหลายปีติดต่อกัน  ลดลง 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งหากสงครามยุติและเศรษฐกิจอิสราเอลฟื้นตัว การส่งออกรถยนต์จากไทยน่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับในช่วงเวลาภาวะปกติก่อนเกิดสงครามกับฮามาส

แม้ว่าตุรกีจะแบนการส่งออกวัสดุก่อสร้างมาอิสราเอล แต่อิสราเอลนำเข้าวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ข้ามพรมแดน เช่น จากอียิปต์ จอร์แดน และที่นำเข้าจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ อิตาลี และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งสินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยอาจจะแข่งขันได้ยากเพราะเสียเปรียบด้านราคาและค่าขนส่งที่ระยะทางไกลมากกว่า

อย่างไรก็ตามไทยยังได้รับผลเชิงบวกในทางการค้า โดย สินค้าอาหารที่ส่งออกจากไทย เช่น อาหารกระป๋อง มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 119% ปี 2567 (ม.ค.-กพ.) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ข้าว เพิ่มขึ้น 1.62% เครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 21% ขณะที่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารมายังอิสราเอลแจ้งว่าตนเองได้นำเข้าสินค้าตามปกติ ไม่ได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะสงคราม แต่วิกฤตทะเลแดงทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นมากถึง 5 เท่า แม้ว่าในปัจจุบันจะลดลงบ้างแต่ก็ยังแพงกว่าปกติ 2-3 เท่า

"ผลกระทบจากการที่อิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อเช้าวันที่ 14 เม.ย.2567 ซึ่งอิสราเอลสามารถป้องกันและไม่ได้รับความเสียหาย แต่อิหร่านยังขู่โจมตีที่รุนแรงมากขึ้นอีก ทำให้ภาวะสงครามแผ่ขยายในภูมิภาคตะวันออกกลางย่อมกระทบเศรษฐกิจของอิสราเอลและภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างแน่นอน และขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาของสงครามจะยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร ถ้ารุนแรงมากและระยะเวลายืดเยื้อนานมากก็จะเสียหายรุนแรงมากกับเศรษฐกิจของอิสราเอลและภูมิภาคตะวันออกกลาง”สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุ

ส่วนแนวทางการรับมือนั้นได้มีการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่เกี่ยวข้องทุกวัน และวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงแนวทางการแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์ พร้อมทั้งหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข และศึกษาโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย เพื่อทดแทนตลาดอิสราเอล หากสงครามยืดเยื้อรุนแรง