นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการธุรกิจ SCGP ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ มี EBITDA 5,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสำหรับงวด 1,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ผลการดำเนินการในไตรมาส 1 มาจากจากการดำเนินงานตามกลยุทธ์การเติบโต การจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนด้วยการนำ Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์
รวมทั้งการบริหารต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคด้วยเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบที่ครอบคลุมในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวม 155 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยวของไทยที่ดี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรมียอดขายเติบโตทุกกลุ่มสินค้า และเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของบรรจุภัณฑ์สินค้าคงทน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
ขณะที่ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการในประเทศและการส่งออกในบางพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียใต้ ส่วนธุรกิจเยื่อและกระดาษ มียอดขายบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการท่องเที่ยวฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ความต้องการบรรจุภัณฑ์บางส่วนได้รับผลกระทบจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ของประเทศจีนและประเทศเวียดนาม และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัว รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามยังคงมีความท้าทายที่ต้องจับตามองอยู่โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามอิสราเอลและอิหร่านที่ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยง แม้ขณะนี้ต้นทุนด้านพลังงานอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง แต่ก็ยังกังวลในเรื่องของโดยเฉพาะต้นทุนจากเศษกระดาษและพลังงานจากถ่านหิน แม้ว่า ในไตรมาส 2 ทาง SCGP ได้ล๊อควอลุ่มไว้แล้ว 50 %
“ความเสี่ยงที่ SCGP ประเมินไว้จากสงคราม ใน 3 เรื่องคือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ รู้ว่าจะเกิดแต่ยังไม่รู้ผลกระทบเป็นอย่าง และสำคัญที่สุดคือ โอกาส แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ต้นทุนจากเศษกระดาษที่มาจากขนส่งและพลังงานจากถ่านหิน อย่างไรก็ตามผลกระทบอาจไม่มากเท่ากับการขนส่ง”นายวิชาญ กล่าว
ทั้งนี้ SCGP ได้มุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการปรับพอร์ตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างรอบคอบเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่ารายได้ได้ไตรมาส 2 ก็น่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าจำเป็นและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น กลุ่ม อาหารและเครื่องดื่ม อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง จากการฟื้นตัวของภาคการบริการ และการท่องเที่ยว รวมทั้งการความต้องการและการเติบโตของธุรกิจในเวียดนาม
นายวิชาญ กล่าวว่า SCGP ได้วางงบลงทุน Merger & Partnership (M&P) 10,000 ล้านบาท ในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโต เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ เพื่อรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการผลิตและส่งออก จากงบลงทุนรวมปีนี้ 15,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาดีลที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้
สำหรับการเติบโตผ่านการขยายกำลังการผลิต ในเดือนมี.คที่ผ่านมา SCGP ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ โดยมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 75,000 ตันต่อปี คิดเป็น 9 % ของกำลังการผลิตเดิมในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและการพิมพ์ที่ทันสมัย เช่น ระบบหุ่นยนต์ (Robotic) ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) และแอปพลิเคชันสำหรับการพิมพ์ ฐานการผลิตแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้กับฐานการผลิตสินค้าแช่แข็งส่งออก ทำให้สามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุนค่าขนส่ง
SCGP ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และวางกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับมือต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ผันผวน และการนำ Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ขยายใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนามเพิ่มเติม รวมถึงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 เพื่อร่วมลดคาร์บอนตามกรอบแนวคิด ESG
ล่าสุด SCGP ได้รับการประเมินการดำเนินงานด้าน ESG รวม 85 คะแนนจาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) และรักษาตำแหน่งอยู่ในกลุ่มท็อป 1% แรกของโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งมาจากความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน และได้รับรางวัล Best Green Loan สาขา Sustainable Finance จากงาน The Asset Triple A Awards ปี 2024 โดย The Asset นิตยสารทางการเงินชั้นนำของเอเชีย จากการสนับสนุน Green Loan โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด ESG