‘แบงก์ชาติ’ ห่วง ‘สภาพคล่อง ธ.ก.ส.’ รัฐขอใช้เงิน 1.7 แสนล้าน ทำดิจิทัลวอลเล็ต
“แบงก์ชาติ”ในฐานะหน่วยกำกับดูแลธ.ก.ส.รับห่วงสภาพคล่อง ธ.ก.ส.หลังรัฐบาลมีภาระคงค้างหนี้ต้องใช้คืนกว่า 8 แสนล้านบาท แนะการขอใช้สภาพคล่องทำดิจิทัลวอลเล็ตต้องมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน และต้องมีการผ่านความพิจารณาจากบอร์ด ธ.ก.ส.อย่างีรอบคอบ
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เริ่มดำเนินโครงการได้นั้นมีหลายหน่วยงานที่ส่งความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.
ซึ่งในส่วนของ ธปท.นั้นได้มีการตั้งข้อสังเกตและความเป็นห่วงในการดำเนินโครงการของรัฐบาลหลายข้อ โดยหนึ่งในส่วนที่ ธปท.แสดงความเห็นคือเรื่องการที่รัฐบาลใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาดำเนินโครงการประมาณ 1.72 แสนล้านบาทนั้น
ธปท.มองว่าการให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กษตรกร ควรมีความชัดดเจนทางกฎหมายว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
แนะรัฐบาลรับฟังความเห็นบอร์ด ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 แล้ว
นอกจากนี้ธปท. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงิน เฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการดังกล่าว
"โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินการตามพันธกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน จึงควรมีแนวทางชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้แก่ ธ.ก.ส. พร้อมทั้งรับฟังความเห็นของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ก่อนด้วย"
แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอวงเงินดำเนินโครงการรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากงบประมาณรายจ่ายต่างปีและต่างประเภท
อีกส่วนหนึ่งจะมาจากการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การใช้เงินงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน
โดยการใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นจะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงกร โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ fully earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการ ด้วยเหตุใด ๆ
เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้ในการพิจารณาอนุมัติ ก็จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501