‘ร้านสะดวกซื้อ’ VS ‘ร้านรายย่อย’ รัฐปัดดิจิทัลวอลเล็ตเอื้อเจ้าสัว-นายทุน
รัฐบาลแจงดิจิทัลวอลเล็ตเปิดกว้างร้านค้าร่วมโครงการ ไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านสะดวกซื้อ หรือร้านค้ารายย่อย ชี้ร้านสะดวกซื้อมีเพียง 1.4 หมื่นสาขา ขณะที่ร้านค้ารายย่อยมี 1.2 ล้านรายในระบบคนละครึ่ง เชื่อทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มจากการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจ
ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในสังคมเกี่ยวกับโครงการ"ดิจิทัลวอลเล็ต" แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กับประชาชน 50 ล้านคนของรัฐบาลก็คือการที่ร้านค้าที่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เข้าสู่โครงการนั้นจะเป็นการเอื้อให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือไม่ เนื่องจากร้านสะดวกซื้อบางรายนั้นมีเครือข่ายร้านค้าสาขาอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ
ในประเด็นนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ กล่าวว่าโครงการนี้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการที่สามารถรับเงินดิจิทัลในการใช้จ่ายรอบแรกจากประชาชนภายใน 6 เดือนตามหลักเกณฑ์ของโครงการนั้นกำหนดให้เป็นร้านค้ารายย่อยทั้งในระบบภาษี และไม่ได้อยู่ในระบบภาษี
โดยร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีจะไม่สามารถถอนเงินดิจิทัลเป็นเงินสดได้ แต่สามารถนำเงินดิจิทัลไปซื้อสินค้าที่เป็นทุนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในการซื้อสินค้ารอบที่ 1 ส่วนร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีสามารถที่จะถอนเงินดิจิทัลออกมาเป็นเงินสดได้จะต้อง เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่ ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) หรือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งจะเห็นว่าโครงการนั้นจะเห็นว่าสามารถให้ร้านค้าเข้าร่วมได้หลากหลายโดยรัฐบาลไม่ได้มีการปิดกั้นโครงการ ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องร้านสะดวกซื้อว่าจะมีเงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว อย่าง 7/11 ได้ไปเช็คตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์มีสาขา 14,500 สาขา
โดยครึ่งหนึ่งเป็นของบริษัทซีพีออลล์ ส่วนอีกครึ่งเป็นแฟรนไชส์ ส่วนร้านค้าย่อยขนาดเล็กทที่เคยลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งมีมากถึง 1.2 ล้ายรายก็เข้ามาร่วมได้ และถ้าเทียบจำนวนร้านสะดวกซื้อกับร้านค้ารายย่อยมีมากกว่าเป็นหมื่นเท่า มีเงินใช้จ่ายในระบบทั้งหมด 4.1 ล้านล้านบาท เทียบกับร้านสะดวกซื้อที่ มีเงินใช้จ่าย 380,000 ล้านบาท
"รัฐบาลไม่ได้เอาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปเข้ากระเป๋าใคร และร้านเหล่านี้อยู่ในระบบภาษีจะเกิดประโยชน์กับประเทศ"
นายชัยกล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 เพิ่มขึ้น 1.2-1.8% จะเกิดแรงกระเพื่อมด้านเศรษฐกิจไปอีก 2-3 ปี ตนเองได้ไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังว่าจะทำให้เกิดเงินหมุน 3.2-3.5 รอบ และทำให้ตัวเกิดตัวทวีคูณทางการคลัง 1.2-1.4 เท่าของเม็ดเงินที่ใส่ลงไป 500,000 ล้านบาท เช่นถ้า 1.3 เท่าก็เท่ากับ 650,000 ล้านบาท จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจไปอีก 3 ปี
อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าจับตาก็คือเมื่อรัฐบาลต้องการให้โครงการนี้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่การหมุนเงินจากร้านค้าสะดวกซื้อขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูงมาก ในการจ่ายเงินให้กับคู่ค้าที่ใช้ระยะเวลานานกว่าธุรกิจและร้านค้าขนาดเล็กทั่วไป โครงการนี้จะทำให้การหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันเพราะหากเงินหมุนช้าโครงการนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ยาก