‘สภาพัฒน์‘ เตือนรัฐบาล ทำงบประมาณ ยึดยั่งยืนการคลัง แนะลดขาดดุลไม่เกิน3%
“สศช.”แนะคลัง สำนักงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง หาช่องจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่ากว่า 3% ต่อ GDP
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของสำนักงบประมาณ
โดย สศช. มีข้อเสนอว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลและระดับหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากผลการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้พื้นที่การคลังลดลงและอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ซึ่งอาจมีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งเร่งกำหนดมาตรการเพิ่มรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่ากว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในช่วงถัดไป
สำหรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ซึ่งได้ผ่านกานเห็นชอบจากครม.ไปก่อนหน้านี้นั้น มีวงเงินรวม 3.752 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย รายจ่ายประจำปี 2,704,574 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มี รายจ่ายลงทุน 908,223 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท
ดังนั้น ในการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จึงควรพิจารณาดำเนินมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขทางการคลัง รวมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ขณะที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 19,570,126 ล้านบาท ส่วนวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 865,700 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 4.24%
อย่างไรก็ตามภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ประมาณการดุลการคลังเอาไว้เป็นรายปี ดังนี้
ปี 2568 ขาดดุล 865,700 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 4.24%
ปี 2569 ขาดดุล 703,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 3.42%
ปี 2570 ขาดดุล 693,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 3.21%
ปี 2571 ขาดดุล 683,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 3.01%
เปิดรายละเอียดงบฯ68
สำหรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2568 ซึ่ง ครม.เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณปี 2568 ประมาณ 8.6 แสนล้านบาทเศษโดยเป็นการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีวงเงินงบประมาณ 3,480,000 ล้านบาท เป็นวงเงิน 272,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น7.84%
แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 2,704,574 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 908,223 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท
สาเหตุหนึ่งที่มีการตั้งงบขาดดุล เพื่อเตรียมงบประมาณปี 68 ส่วนหนี่ง ไปดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 152,700 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการจ่ายเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ต้องใช้งบถึง 5 แสนล้านบาท
โดยมาจากสามส่วน ขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท
การดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐ ซึ่งก็คือ ธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะรับภาระใช้คืนงบประมาณในภายหลังบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งมาจากงบกลาง)
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ได้จัดทำเอกสารรายละเอียดงบประมาณ ปี 2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการบันทึกรายละเอียด งบประมาณในส่วนของปี 2568 ที่ต้องนำไปใช้ในโครงบการแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต อยู่ในงบกลาง รายการที่ 5 ในชื่อว่า “ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข็มแข็งของระบบเศรษฐกิจ” เป็นวงเงิน 152,700 ล้านบาท
จัดงบกลางฯกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยมีการจัดทำงบกลาง จำนวน 12 รายการที่เพิ่มขึ้นใหม่เอี่ยมแกะกล่อง เพราะในบรรดา 11 รายการของการจัดทำงบกลางนั้น จะเป็นการจัดทำงบไว้ในแต่ละปีที่ปรากฎอยู่แล้ว ในขณะที่ งบกลาง รายการที่ 5 ที่ชื่อว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข็มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เป็นวงเงิน 152,700 ล้านบาท เป็นงบเกิดขึ้นใหม่ จึงไม่มีการเปรียบเทียบงบกลางปี 2567
20 ลำดับการจัดสรรงบประมาณจากมากไปน้อย
โดยมีหลายกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดงบประมาณรายกระทรวงเรียงจากมากไปน้อยดังนี้
1.กระทรวงการคลัง 390,314 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 63,294 ล้านบาท
2.กระทรวงศึกษาธิการ 340,584 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 12,413 ล้านบาท
3.กระทรวงมหาดไทย 294,863 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณลดลง 56,732 ล้านบาท
4.กระทรวงกลาโหม 200,293 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 5,179 ล้านบาท
5.กระทรวงคมนาคม 193,618 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 10,338 ล้านบาท
6.กระทรวงสาธารณสุข 172,285 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 6,909 ล้านบาท
7.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 132,294 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 4,955 ล้านบาท
8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 123,149 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 4,726 ล้านบาท
9.กระทรวงแรงงาน 67,772 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 5,623 ล้านบาท
10.สำนักนายกรัฐมนตรี 36,128 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 2,283 ล้านบาท
11.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 35,284 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 2,094 ล้านบาท
12.กระทรวงยุติธรรม 29,076 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 3,201 ล้านบาท
13.กระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 26,839 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,528 ล้านบาท
14.กระทรวงการต่างประเทศ 9,014 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 204 ล้านบาท
15.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 9,887 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,232 ล้านบาท
16.กระทรวงวัฒนธรรม 8,841 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,843 ล้านบาท
17.กระทรวงพาณิชย์ 7,348.0 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 575 ล้านบาท
18.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,447 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,029 ล้านบาท
19.กระทรวงอุตสาหกรรม 5,588 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,058 ล้านบาท
และ 20.กระทรวงพลังงาน 2,890 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น 115 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวงเงิน 3.781 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.38 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 9.84% ส่วนงบกลางฯ (12 รายการ) รวม 8.057 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 200 ล้าน คิดเพิ่มขึ้น 21.47% รายจ่ายเพื่อการลงทุน 9.082 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.981 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.90% และงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 4.102 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.93% สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีวงเงินรวม 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีวงเงิน 3.480 ล้านล้านบาท จำนวน 2.72 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.84%