รู้จัก 2 ‘รัฐมนตรีคลังป้ายแดง’ ‘พิชัย’ – ‘เผ่าภูมิ’ เสริมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

รู้จัก 2 ‘รัฐมนตรีคลังป้ายแดง’  ‘พิชัย’ – ‘เผ่าภูมิ’ เสริมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

รู้จัก 2 รัฐมนตรีคลังใหม่ป้ายแดง พิชัย ชุนหวชิระ และ เผ่าภูมิ โรจนสกุล หลังปรับ ครม.ครั้งล่าสุด รมว.คลังผ่านงานหลายด้านทั้งแวดวงเศรษฐกิจ และพลังงาน และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทย ส่วน รมช.คลัง เคยเป็นข้าราชการในกระทรวง ก่อนลาออกลุยงานการเมืองผลักดันนโยบายสำคัญ

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครม.เศรษฐา 2 เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

 กระทรวงหนึ่งที่ได้รับการจับตาคือ "กระทรวงการคลัง" กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญเนื่องมีการปรับเปลี่ยนโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ลุกออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ โดยให้พิชัย ชุณหวชิร มานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะที่อีกตำแหน่งคือให้เผ่าภูมิ โรจนสกุล ขยับจากเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้กระทรวงนี้มีรัฐมนตรีถึง 4 คน เป็นรัฐมนตรีว่าการ 1 คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีก 3 คน

สำหรับประวัติของรัฐมนตรีคลังคนใหม่ป้ายแดง 2 คนมีดังนี้

รู้จัก 2 ‘รัฐมนตรีคลังป้ายแดง’  ‘พิชัย’ – ‘เผ่าภูมิ’ เสริมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

พิชัย ชุณหวชิร ปัจจุบันอายุ 75 ปี เกิดวันที่ 15 ก.พ.2492 ตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง คือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเพิ่งลาออกเมื่อไม่นานมานี้

พิชัยมีชื่อเกี่ยวข้องกับทั้งแวดวงธุรกิจ และมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับฝ่ายการเมือง เขาเคยเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่งนี้ได้รับการแต่งตั้งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งนายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

 

ระหว่างปี 2544-2550 พิชัยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นยุคแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นบริษัทมหาชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาพิชัยขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) ของ ปตท. ก่อนที่จะมานั่งเป็นกรรมการในบอร์ดบางจากหลังจากที่เกษียณอายุแล้ว

ในทางการเมืองชื่อของพิชัยเคยปรากฏในฐานะพยานชี้แจงคดีข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นคนที่เสนอข้อมูลทางบัญชีเพื่อหักล้างตัวเลขความเสียหายของโครงการนี้

รู้จัก 2 ‘รัฐมนตรีคลังป้ายแดง’  ‘พิชัย’ – ‘เผ่าภูมิ’ เสริมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

สำหรับประวัติการศึกษา พิชัยจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก Indiana University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม

รู้จัก 2 ‘รัฐมนตรีคลังป้ายแดง’  ‘พิชัย’ – ‘เผ่าภูมิ’ เสริมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

จากอดีตข้าราชการสู่รมช.คลัง

ส่วนประวัติของเผ่าภูมิ โรจนสกุล ปัจจุบันอายุ 41 ปี เกิดวันที่ 22 ก.พ.  2526 อดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง โดยเคยทำงานที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยรับผิดชอบงานในสำนักงานโยบายระบบการเงิน และสถาบันการเงิน โดยหลังจากทำงานประมาณ 1 ปีเศษก็ลาออกจากราชการ

ต่อมามีผู้ชักชวนให้เข้ามาทำงานการเมืองในพรรคเพื่อไทย โดยเข้ามาเป็นทีมงานของภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ตั้งแต่สมัยเป็นเลขาธิการพรรค และในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนเกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 ได้รับเลือกให้เป็นรองเลขาธิการพรรค และดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกัน 4 สมัย (ก่อนจะขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2566

ส่วนประวัติการศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทใบที่ 1 จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ บอสตัน, ปริญญาโทใบที่ 2 และปริญญาเอก ด้านจากคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอย ชิคาโก

ที่ผ่านมาเผ่าภูมิได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการอธิบาย และสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของพรรคเพื่อไทย เช่น โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) หรือ “NBZ”  และการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร เป็นต้น

ทั้งนี้ต้องจับตาว่าการเสริมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล “เศรษฐา2” ที่มีรัฐมนตรีคลังถึง 4 คน จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ และมาตรการทางการคลังออกมาได้ถูกใจประชาชน และภาคธุรกิจได้สมกับที่สังคมตั้งความหวังไว้หรือไม่