‘พิชัย ชุณหวชิร’ รมว.คลังคนใหม่ ขุนพลชินวัตรยุค แปรรูป ปตท.-สู้คดีจำนำข้าว
เปิดประวัติ “พิชัย ชุนหวชิระ” รมว.คลัง คนใหม่ ช่วยงาน “ทักษิณ” มาตั้งแต่การแปรรูป ปตท. พร้อมทั้งช่วยสู้คดีจำนำข้าวยุค “ยิ่งลักษณ์” เป็นพยานปากเอก ก่อนมารับตำแหน่ง
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่งลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) , ประธานกรรมการบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567
รวมถึงลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนี้ไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2567
นายพิชัย ช่วยงานรัฐบาลปัจจุบัน หลังจากได้รับการแต่งตั้งจาก “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ให้เป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ประวัติ นายพิชัย ชุณหวชิร
สำหรับประวัติของนายพิชัย หลังจากจบปริญญาตรีบัญชีบัณฑิต (การบัญชี) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขึ้นทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สภาวิชาชีพบัญชี นายพิชัยได้เติบโตในเส้นทางบัญชี
จนกระทั่งปี 2544-2550 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในปี 2551-2552 ขยับขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และเกษียณจาก ปตท.ในตำแหน่งดังกล่าว โดยในช่วงดังกล่าวนายพิชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง
ในช่วงดังกล่าว นายพิชัย เป็นที่ไว้วางใจของ “นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (2546-2548) แม้จะไม่ได้มีบทบาทในการเปิดหน้าออกสื่อแต่ถือได้ว่าเป็นมือขวาของนายแพทย์พรหมินทร์ในช่วงที่รัฐบาลมีการแปรรูป ปตท.เพื่อจดทะเบียนใน ตลท.
และเมื่อเกษียณก็ได้รับความไว้ใจให้ไปเป็นกรรมการบางจาก ซึ่งในช่วงแรกบางจากยังอยู่ในกลุ่ม ปตท.จึงได้มีการประสานงานที่ใกล้ชิด และมีบทบาทสำคัญช่วงที่บางจากแยกออกไป
รวมทั้งในรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายพิชัยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2556
ก่อนการรัฐประหาร 2 เดือน “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามแต่งตั้งให้นายพิชัย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน เม.ย.2557
ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีพยาน 11 ปาก ในจำนวนดังกล่าวมีนายพิชัย เป็นพยานให้ด้วยในบทบาทนักบัญชีที่จะนำข้อมูลตัวเลขมาชี้แจงหักล้างข้อมูลของ ป.ป.ช.
หลังจากที่นายพิชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในครั้งนี้ ถือว่ามีภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเต็มศักยภาพและขยายตัวได้ 5% ต่อปี ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ รวมทั้งประคับประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
ซึ่งจะได้ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะนักบัญชี เพื่อบริหารงบประมาณปี 2567-2568 สำหรับโครงการ “เงินดิจิทัล” ที่เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ซึ่งจะใช้งบประมาณถึง 500,000 ล้านบาท โดยเฉพาะแหล่งเงินในส่วนของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ที่จะต้องเกลี่ยให้ลงตัว โดยไม่ให้กระทบกับโครงการลงทุนที่จำเป็น ในเงื่อนไขที่เหลือเวลาใช้งบฯ 5 เดือน และการออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย
โดย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดหวังผลลัพธ์กระชากเศรษฐกิจไทยผงกหัวขึ้นและเกิดผลเร็วที่สุดผ่านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค โดยหลังจากนั้นโจทย์สำคัญคือการวางแผนมาตรการการคลังเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารมาตรการภาษี รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ทั้งการออกภาษีใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเดิม เพื่อลดการขาดดุลนโยบายการคลังและกลับสู่การสร้างงบประมาณสมดุลในระยะยาว รวมทั้งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายสวัสดิการของรัฐ ที่จะรับภาระหนักขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
ขณะเดียวกัน การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัญมนตรี (ครม.) ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณปี 2568 ประมาณ 8.6 แสนล้านบาทเศษ โดยเป็นการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่มีวงเงินงบประมาณ 3,480,000 ล้านบาท เป็นวงเงิน 272,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.84%
แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายประจำ 2,704,574 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 908,223 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท