สรท.ลุ้นส่งออกไตรมาส 2 พลิกเป็นบวก หลังไตรมาสแรกติดลบ 0.2%
ส่งออก มี.ค.ติดลบ 10.9% หดตัวสูงสุดรอบ 8 เดือน จากฐานปีที่แล้วสูง ส่งผลไตรมาสแรกติดลบ 0.2% สรท.มั่นใจไตรมาส 2 พลิกเป็นบวก หลังทุเรียนออกสู่ตลาด “นักเศรษฐศาสตร์” ชี้เป็นสถานการณ์ชั่วคราว “ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้ส่งออกไทยวูบสะท้อนความสามารถการแข่งขันไทยลดลงแม้บาทอ่อน 37 บาท
การส่งออกไทยต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง หลังพบเดือน มี.ค.2567 ติดลบเกินคาดถึง 10.9% ภายหลังขยายตัวต่อเนื่องมา 7 เดือนติด ส่วนหนึ่งสำคัญมาจากฐานส่งออกปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนเดียวกันสูง ผนวกกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ ผลกระทบเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ การดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน และสภาพอากาศแปรปรวน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2567 มีมูลค่า 70,995 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วติดลบ 0.2% จากที่การส่งออกเป็นในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.9% กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เพราะฐานปีก่อนสูงมาก โดยทำได้ถึง 28,004 ล้านดอลลาร์ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ติดลบ 5.6 %
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 26,123 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,163 ล้านดอลลาร์ รวมไตรมาแรก ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 70,995 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.2% นำเข้ามูลค่า 75,470 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 3.8% ขาดดุลการค้า 4,475 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 188,014 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.1% แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม
ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 0.3%
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 12.3% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และสินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 0.3%
ยันส่งออกมี.ค.สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัว โดยตลาดหลัก ลด 9.1% หดตัวในจีน 9.7% ญี่ปุ่น 19.3% สหภาพยุโรป (27) 0.1% และอาเซียน (5) 26.1% แต่สหรัฐฯ เพิ่ม 2.5% และ CLMV เพิ่ม 0.5% ตลาดรอง ลด 4.3% โดยหดตัวในเอเชียใต้ 6.1% ตะวันออกกลาง 7.3% แอฟริกา 11.9% ลาตินอเมริกา 10.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS 14.2% และสหราชอาณาจักร 19.3% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5% และตลาดอื่น ๆ ลด 82.3% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 87.3%
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่การส่งออกในเดือนมี.ค. 67 ลดลง เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงในเดือนมี.ค.66 ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนชะลอออกสู่ตลาดไปเป็นเดือนเม.ย. ซึ่งต่างจากในเดือนมี.ค.66 ที่ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมาก
ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าจะพบว่าเดือน มี.ค.การส่งออกมีมูลค่าสูงถึงระดับ 24,960 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ดังนั้น การที่ส่งออกในเดือน มี.ค.ที่ติดลบ 10.9% จึงไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด และเชื่อว่าในเดือนเม.ย.67 มูลค่าการส่งออกจะกลับไปเป็นบวกได้อย่างแน่นอน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก เดือน เม.ย.มั่นใจว่าจะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 2 ก็มีแนวโน้มเป็นบวก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ ที่ขณะนี้กำลังออกสู่ตลาด คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ที่เข้าสู่การฟื้นตัว สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์พลังงานสะอาด ที่จะส่งออกได้ดีขึ้น
ดังนั้น จึงคงยืนยันเป้าส่งออกปีนี้ที่ 1-2% โดยจากนี้ หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 24,044 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัว 1% ทำได้เฉลี่ย 24,362 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน การส่งออกจะขยายตัว 2% ส่วนการขาดดุลการค้า ดูแลไม่น่าเป็นห่วง เพราะตัวหลักที่นำเข้าสูง คือ สินค้าทุนและวัตถุดิบ นำเข้ารวมกัน 60% ของการนำเข้ารวม และอีกตัว คือ น้ำมัน มีสัดส่วนถึง 19%
สรท.ลุ้นไตรมาส2พลิกเป็นบวก
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 แม้ติดลบมาก แต่ดูเป็นรายสินค้าไม่มีปัญหาอะไร อย่างสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนปีนี้ผลผลิตออกช้า ซึ่งมาจากอากาศร้อนทำให้ส่งออกทุเรียนชะลอ ซึ่งปีที่แล้วเดือนเดียวกันมีการส่งออกทุเรียนมาก หากมองภาพรวมการส่งออกทั้งไตรมาส 1 ก็ถือว่าไม่ได้มีปัญหา ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้
สำหรับทิศทางการส่งออกในไตรมาส 2 นั้น ภาคเอกชนยังมองเป็นบวก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 71,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา นอกจากนี้ยังสินค้าอื่นๆ เช่น อาหารสัตว์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงไปได้ดี เพราะได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 36-37 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ สถานการณ์ของจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือกลับสู่ปกติแล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 นี้ จะยังสามารถขับเคลื่อนได้ และเติบโตเป็นบวกได้ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะขยายตัวได้ 2%
ห่วงดุลการค้า-ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่าตัวเลขส่งออกที่ออกมาถือว่า ถือว่าไม่ได้เลวร้าย โดยส่งออก 3 เดือนแรกของปี คาดติดลบราวใกล้เคียง 1% แต่ทั้งปี คาดว่ายังบวกอยู่ แต่ต่ำกว่าระดับ 5% และคาดช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ จากแรงส่งในต่างประเทศที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวด้านดีมานด์มากขึ้น ซึี่งเป็นส่วนหนุนให้ส่งออกหลายประเทศเริ่มขยายตัวดีขึ้น เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่หวังว่าส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้จะเติบโตได้ดี
โดยการปรับลดลงของตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ที่ออกมา หลักๆมาจากเรื่องของฐานสูงปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสฯที่ปรับตัวสูง ในช่วงเดียวกันปีก่อน
แต่ประเด็นที่น่าห่วงกว่า ตัวเลขส่งออกคือ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ที่่อาจไม่ได้เกินดุล และมีแนวโน้มขาดดุลได้ สะท้อนความสามารถการแข่งขันของไทยที่ต่ำลงได้
โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัด ที่คาดเกินดุลลดลงหากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา โดยคาดปีนี้จะเกินดุลเพียงระดับ1%หากเทียบกับโควิด-19 ที่เกินดุล 5-7% ซึ่งความเสี่ยงหากดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลโอกาสที่จะหนุนทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ยาก โดยเฉพาะ
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันดอกเบี้ยต่างประเทศค่อนข้างมาก อาจเป็นตัวเร่งทำให้นักลงทุนย้ายไปลงทุนต่างประเทศได้
“ที่น่าห่วงกว่าส่งออก ติดลบ คือดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจเกินดุลน้อยลง หรือติดลบในระยะข้างหน้า ยิ่งดอกเบี้ยข้างนอกสูงกว่าในประเทศ อาจเห็นการย้ายไปลงทุนกลับไปต่างประเทศไทย ยกเว้นนักลงทุนเชื่อว่าบาทจะแข็งค่า จากการเกินดุลบัญชีการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด”
ห่วงไทยความสามารถการแข่งขันลดลง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ส่งออกที่ติดลบในเดือนมี.ค. ถือว่าไม่น่าห่วงมากนัก เพราะการชะลอตัวลงของการส่งออก ยังใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค สะท้อนดีมานด์ในต่างประเทศที่ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น และเป็นเรื่องของฐานสูงปีก่อน
แต่เหล่านี้ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะการส่งออกที่ชะลอตัวลงแม้โลกจะฟื้นตัวและเงินบาทที่อ่อนค่าเกินระดับ 37บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นตัวสนับสนุนส่งออก หากเราไม่ได้ประโยชน์เหล่านี้ ซึ่งอาจต้องกลับมาทบทวนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความสามารถการแข่งขันที่ลดลงต่อเนื่องหรือไม่
ดังนั้นไทยจำเป็นต้องเร่งการเปิดตลาดใหม่ต่อเนื่องและเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อรักษาระดับการส่งออกให้ยังเติบโตได้ ดังนั้นโจทย์เหล่านี้อาจเป็นโจทย์สำคัญ ที่รัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งเดินหน้า คือการเพิิ่มความสามารถการแข่งขัน การเร่งหาตลาดใหม่ๆเพื่อสนับสนุนการส่งออก ให้ยังเติบโตได้
“ส่งออกที่ติดลบเยอะ หลักๆมาจากเรื่องของฐานสูง แต่ยังมองว่าเป็นทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค ใกล้เคียงกับมาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ แต่เหล่านี้ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ส่งออกยังสามารถไปต่อได้ ทั้งพัฒนาการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น และหาตลาดใหม่ๆ เพื่อทดแทนการส่งออกที่จะหายไปในอนาคต”