สหรัฐคงสถานะไทยกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา

สหรัฐคงสถานะไทยกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ยูเอสทีอาร์ จัดไทยอยู่กลุ่มถูกจับตาด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่ออีกปี ชี้แม้มีพัฒนาการปกป้อง คุ้มครองการละเมิดมาก และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้น จนเจ้าของสิทธิ์พอใจ แต่ยังมีการละเมิดอยู่มาก โดยเฉพาะทางออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.67 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เผยแพร่รายงานผลการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 67 โดยไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Watch List : WL) ต่อเนื่องอีกปีนับตั้งแต่ปี 60 แม้ปีที่ผ่านมา ไทยมีพัฒนาด้านการป้องกัน คุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังขึ้น จนสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของสิทธิ์ แต่ปัญหาการละเมิดก็ยังคงมีอยู่

โดยในรายงานระบุว่า แม้ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPPT), แก้กฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนให้รวดเร็ว แก้ปัญหาการตรวจสอบคำขอจดทะเบียนที่คั่งค้างสะสมจำนวนมาก และเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญากรุงเฮก, หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับเจ้าของสิทธิ์ในการป้องกัน และปราบปรามการละเมิดอย่างเต็มที่

 

แต่ยังมีสินค้าละเมิดวางขายต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางออนไลน์ ซึ่งหน่วยงานของไทยมุ่งปราบผู้ค้ารายย่อยมากกว่าจะมุ่งปราบผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่ รวมถึงกังวลอาจไม่มีการดำเนินคดีทางอาญา อีกทั้งแม้ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ในการปราบปรามการขายสินค้าละเมิดทางออนไลน์ แต่การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ เพราะมีอุปกรณ์ต่างๆ และแอปพลิเคชันที่สามารถสตรีม หรือดาวน์โหลดเนื้อหาได้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพราะสหรัฐฯ รัฐบาลต่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ยังมีข้อกังวล และยังมีอุปสรรคในขั้นตอนการบังคับใช้การป้องกันการแอบถ่ายหนังโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงเร่งแก้ปัญหาการพิจารณาคำขอจดสิทธิบัตรที่ยังคั่งค้างจำนวนมาก

ส่วนการที่ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นั้น สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยดำเนินการอย่างโปร่งใส และมีกระบวนการที่เหมาะสมในการคุ้มครอง

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯมีข้อกังวลอื่นๆ อีก เช่น ภาคเอกชนของไทยยังคงใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ, การดำเนินคดีทางแพ่งยืดเยื้อ และความเสียหายทางแพ่งอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเรียกร้องให้ไทยมีระบบปกป้องที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการใช้งานเชิงพาณิชย์โดยไม่เป็นธรรม การเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการเปิดเผยผลการทดสอบ หรือข้อมูลทั่วไปเพื่อการเข้าสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์ยา และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร      

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ของไทย หวังว่า ปีนี้ ไทยจะหลุดออกจากบัญชีดังกล่าว เพราะมีพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีขึ้นมาก โดยได้ดำเนินการต่างๆ ตามที่สหรัฐฯเรียกร้อง นำมาซึ่งความพอใจของเจ้าของสิทธิ์ แต่ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการจัดสถานะด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้ สำหรับกลุ่ม WL ปีนี้ มี 20 ประเทศ คือ อัลจีเรีย, บาร์บาโดส, เบลารุส, โบลิเวีย, บราซิล, บัลแกเรีย, แคนาดา, โคลอมเบีย, เกวาดอร์, อียิปต์, กัวเตมาลา, เม็กซิโก, ปากีสถาน, ปารากวัย, เปรู, ไทย, ทรินิแดด แอนด์ โทบาโก, เตอร์เกีย, เติร์กเมนิสถาน และเวียดนาม