เศรษฐกิจโลกไปต่ออย่างไรเมื่อเงินเฟ้อไม่จบ ดอกเบี้ยไม่ลง
อาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.25-5.50 ต่อปี ตามที่ตลาดการเงินคาด พร้อมส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยจะยืนในระดับสูงต่อไป จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าที่ร้อยละ 2 ก่อนเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
คําถามคือทําใมเงินเฟ้อไม่ลดลง และทิศทางเศรษฐกิจจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ อาทิตย์ที่แล้ว มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.25-5.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8ให้เหตุผลว่ากิจกรรมเศรษฐกิจในสหรัฐเข้มแข็ง อัตราเงินเฟ้อยังสูงและไม่มีความคืบหน้าที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าร้อยละ 2 ต่อปี
มองอัตราเงินเฟ้อว่าเป็นความเสี่ยงและเศรษฐกิจสหรัฐมีความไม่แน่นอน ทําให้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงนานเท่าที่จะเหมาะสม พร้อมชะลอการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ทั้งหมดชี้ว่าภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปจากเดิม อัตราเงินเฟ้อไม่ลงเร็วอย่างที่อยากเห็น ทําให้อัตราดอกเบี้ยยังปรับลงไม่ได้
เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสหนึ่งขยายตัวแต่ชะลอลงเหลือร้อยละ 1.6 ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภค ขณะที่การลงทุนชะลอตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ตลาดแรงงานค่อนข้างตึงตัว อุปสงค์มีมากกว่าอุปทานแต่ความไม่สมดุลลดลง
มีการจ้างงาน 303,000 ตำแหน่งเดือนมีนาคมซึ่งสูงและอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ค่าจ้างแรงงานยังเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ลดลงโดยอุปทานแรงงานได้ประโยชน์จากผู้กลับเข้ามาทํางานและแรงงานย้ายถิ่นจากต่างประเทศ
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังสูงกว่าเป้าร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ล่าสุด เดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 3.2 และเดือนมกราคมที่ร้อยละ 3.1 ชี้ถึงการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและนํ้ามัน ตัวเลขเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.8 เท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เดือนมกราคม
การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อช่วงสามเดือนแรกปีนี้ โดยเฉพาะตัวเลขเดือนมีนาคมที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดมาก ทําให้มีคําถามว่าธนาคารกลางสหรัฐจะกลับไปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่เพื่อดูแลเงินเฟ้อ
ในประเด็นนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐช่วงการแถลงข่าวยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป คือในเดือนมิถุนายน แต่ไม่ได้พูดถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเข้าใจได้เพราะจะขึ้นกับตัวเลขต่างๆที่จะออกมาโดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อ ที่น่าสังเกตคือตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นของภาคธุรกิจได้เริ่มปรับขึ้น
คำถามคือ ทําไมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐไม่ลงต่อ แต่ยืนระดับนี้มาแล้วนานกว่าหกเดือน และถ้าอัตราดอกเบี้ยไม่ปรับลงเพราะอัตราเงินเฟ้อยังสูง เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร
เท่าที่ประเมิน ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ลงสู่ระดับร้อยละ 2 ต่อปี มาจาก
หนึ่ง การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐช่วงโควิดที่มีวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์คือ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินเหล่านี้ขณะนี้ยังมีผลต่อเศรษฐกิจ เป็นเงินที่รัฐบาลจ่ายตรงให้ประชาชนและครอบครัว 1.8 ล้านล้าน ให้ภาคธุรกิจ 1.7 ล้านล้าน ให้รัฐบาลท้องถิ่นและอื่นๆ รวมสาธารณสุข 1.5 ล้านล้านดอลลาร์
ที่เงินเหล่านี้ยังมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะบางส่วนยังไม่ได้ใช้และหรือพึ่งจะเอาออกมาใช้จ่าย เช่น เงินที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นเกือบ 8 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการให้ผ่านกระทรวงการคลังที่ต้องตกลงกันว่าจะเอาไปใช้อย่างไร และมีเวลาเบิกจ่ายได้ถึงปี 2026 ทําให้เงินเหล่านี้สามารถทยอยนําออกมาใช้ได้แม้การระบาดของโควิดจะจบลงแล้ว
สำหรับเงินที่จ่ายตรงให้ประชาชน ประชาชนบางส่วนเก็บออมไม่ได้ใช้เพราะเป็นการให้ทุกคน ไม่แยกแยะตามความจำเป็น ประชาชนที่เก็บออมก็นําเงินที่ออมไว้มาใช้จ่าย ทําให้การบริโภคเอกชนช่วงไตรมาสหนึ่งเร่งตัวแม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น
ผลคือ อัตราเงินเฟ้อในส่วนที่เกี่ยวกับการบริโภคก็เพิ่มสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะหมวดอาหาร พลังงาน ค่าเช่า และบริการ ซึ่งชัดเจนในตัวเลขเดือนมีนาคม
สอง ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ช่วงปีนี้ เช่น หุ้น บิตคอยน์ ทองคำ ทําให้คนที่ถือสินทรัพย์เหล่านี้รู้สึกว่ารวยขึ้น (Wealth effect) จึงเพิ่มการใช้จ่าย และการบริโภค
สาม ปัจจัยโครงสร้างและความสัมพันธ์ในเศรษฐกิจโลกที่ได้เปลี่ยนไป เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้า ดิสรัปชันต่อการผลิตที่เป็นผลของสงคราม สิ่งเหล่านี้เพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจโลกทำให้อัตราเงินเฟ้อในโลกสูงขึ้น
เห็นได้ว่าสองปัจจัยแรกเป็นด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจ ซึ่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อน่าจะหายไปเมื่อการใช้จ่ายจากเงินกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด หรือกําไรจากราคาสินทรัพย์จบลง ที่เหลือคือผลด้านอุปทานหรือปัจจัยที่สามที่จะเป็นผลถาวร
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อที่ตํ่าระดับสองเปอร์เซนต์อาจจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไป และถ้าเฟดยังยืนยันเป้าที่สองเปอร์เซ็นต์ อัตราดอกเบี้ยอาจสูงนานกว่าที่ควร ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลกเป็นสองกรณี
กรณีแรก เศรษฐกิจชะลอจากอัตราดอกเบี้ยที่ยืนในระดับสูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย การใช้จ่ายในประเทศลดลงมากจนอัตราเงินเฟ้อลดลง ทําให้อัตราดอกเบี้ยสามารถลดลงได้ ซึ่งก็ช่วยประคองเศรษฐกิจที่ชะลอไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นฉากทัศน์ของการชะลอตัวแบบ hard landing
กรณีที่สอง เศรษฐกิจชะลอจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย การใช้จ่ายในประเทศลดลงมากแต่อัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงเหมือนกรณีแรกเพราะปัจจัยที่สาม เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ แย่ลงและกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น ราคานํ้ามันเพิ่มสูงมากขึ้น ผลคือ เศรษฐกิจชะลอพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง เป็นฉากทัศน์ของ Stagflation
นี่คือความเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอื่นๆ ต้องพิจารณาเป้าอัตราเงินเฟ้อว่าสอดคล้องกับโครงสร้างและความสัมพันธ์ในเศรษฐกิจโลกที่ได้เปลี่ยนไป
เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับลดลงได้เร็วขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงฉากทัศน์ที่สอง และให้นโยบายการเงินคืออัตราดอกเบี้ยสามารถมีบทบาทดูแลเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัวและเต็มความสามารถ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล