สรท.มั่นใจทั้งปีส่งออกโต 1-2 % แม้ไตรมาสแรกติดลบ

สรท.มั่นใจทั้งปีส่งออกโต  1-2 % แม้ไตรมาสแรกติดลบ

สรท.ย้ำ แม้ส่งออกไทยไตรมาสแรกติดลบ 0.2 % แต่ยังดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มั่นใจส่งออกไทยยังไปได้ดีจากการส่งออกสินค้าสำคัญของไทย ทั้งปีโตได้ 1-2 % แน่ จี้รัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องดูสภาพธุรกิจ หากดึงดันธุรกิจเจ๊งระนาว แนะปรับขึ้นค่าจ้างให้เป็นไปตามไตรภาคี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  การส่งออกไทยเดือนมี.ค. 67 มูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์  ติดลบ 10.9 % ทำให้การส่งออกกไตรมาสแรก  (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์  ติดลบ  0.2  % จนทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อการส่งออกของไทยแต่มาวิเคราะห์เจาะลึกตัวเลขการส่งออกของไทยเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ 1.3%  ซึ่งถือว่า ดี

มื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน การส่งออกของไทยยังดีกว่า เช่น มาเลเซีย ไตรมาสแรกติดลบ 5 % อินโดนีเซีย ติดลบ7.2 % เป็นต้น เมื่อเจาะดูรายสินค้าก็พบว่า การส่งออกในสินค้าสำคัญของไทยก็ยังส่งออกได้ดีทั้งสินค้ากลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรม

สรท.ยังมั่นใจว่าการส่งออกของไทยยังคงขับเคลื่อนได้ โดยยังคงเป้าการส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1-2 %  มูลค่าเฉลี่ย 287,400 -291,635 ล้านดอลลาร์  จากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะสงครามในตะวันออกกลางไม่รุนแรงขยายวงกว้าง โดยสินค้าสำคัญของไทยน่าจะได้ตามเป้า เช่น ข้าว น่าจะส่งออกทั้งปีได้ 8.5 ล้านตัน  ยางพารา จะขยายตัวได้ 10 % จากราคาและความต้องการเพิ่ม

นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มอาหารคาดว่าจะขยายตัวได้ 2-3 %  จากแนวโน้มความต้องการในตลาดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลาง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมทั้งยานพาหนะ จะขยายตัวได้ 2-3 %  เครื่องใช้ฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวได้ 5 %  พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ขยายตัวได้ 2-2.5 % อีกทั้งเรายังได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกของอุตสาหกรรม PCB  ด้วย

สรท.มั่นใจทั้งปีส่งออกโต  1-2 % แม้ไตรมาสแรกติดลบ

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง คือ  1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม และกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุสที่เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งน้ำมันโลก

2. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต ประกอบด้วย การปรับค่าแรงขั้นต่ำ  400 บาททั่วประเทศ  ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมันและไฟฟ้า  อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวระดับสูง และอัตราค่าาระวางเรือ ปรับตัวสูงขึ้นทุกเส้นทาง

3. ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร เช่นผลไม้ออกช้ากว่าฤดูกาลปกติ ยางพาราผลผลิตมีน้อยกว่าปกติ

 

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงสำคัญ ประกอบด้วย 1.ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงปลายปี และ 2. ความเสี่ยงการชำระเงินของคู่ค้า เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระเงินของคู่ค้า