‘เอกชน’ทั่วประเทศลั่นจุดยืน ค้านรัฐบาลขึ้นค่าแรง400บาท
76 หอการค้า และ 53 สมาคมการค้า ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ชี้เกินความเป็นจริงสภาพเศรษฐกิจ กระทบขีดความสามารถแข่งขันประเทศ เตรียมยื่นหนังสือให้ รมว.แรงงาน 13 พ.ค.นี้ สรท.ฝากรัฐบาลพิจารณาให้รอบด้าน เหตุผู้ประกอบการไทยยังไม่พร้อม แนะปรับขึ้นค่าจ้างตามไตรภาคี
การประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นอีกนโยบายหลักของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพื่อเรียกคะแนนเสียง โดยขึ้นค่าแรงมาแล้วถึง 2 ครั้งภายหลังเข้ามานั่งเป็นรัฐบาล ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นฟู ภาคเอกชนยังคงต้องเผชิญกับต้นทุนด้านต่างๆ จึงออกแสดงออกถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2567
หอการค้าจังหวัด 76 แห่ง และสมาคมการค้า 53 แห่ง ร่วมกันแถลงเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 เพื่อคัดค้านนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล พร้อมกับยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567 จึงขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศดังกล่าว
การขึ้นครั้งนี้ถือว่าเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจะรวบรวมความเห็นจากสมาคมการค้าส่งให้รมว.แรงงาน วันที่ 13 พ.ค.นี้
ก่อนจะประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง วันที่ 14 พ.ค. นี้ อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) วันที่ 8 พ.ค.67 จะนำเรื่องผลกระทบและกระแสคัดค้านจากสมาคมการค้าต่างและหอการค้า 5 ภาค หารือในการประชุม กกร. ซึ่งเชื่อว่าภาคธุรกิจใน กกร.จะแสดงจุดยืนร่วม และจัดทำเป็นเอกสารยื่นให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลในนาม กกร. อีกครั้ง
นอกจากนี้ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายกำหนดส่งผลให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
อีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน
“หอการค้า”ยื่น4ข้อเสนอถึงรัฐบาล
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ
1.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้นก็ทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
2.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3
3.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
4.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว
นโยบายค่าแรงกระชากการหาเสียง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นการกระชากด้วยนโยบายของการหาเสียง ไม่ใช่หลักธรรมชาติของการปรับไปตามกลไกทางธุรกิจ และการกระชากครั้งนี้จะซ้ำเติมผู้ประกอบการ เพิ่มต้นทุนท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง และยังกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
รวมทั้งจากที่สำรวจหอการค้าและภาคธุรกิจ สะท้อนว่า 50% ระบุว่ายังรับไม่ได้กับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท เพียง 40% ปรับตัวได้เพราะจ่ายค่าแรงงานสูงกว่า 400 บาทแล้ว
หอการค้าชี้กระทบซัพพลายเชน
นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเองและซัพพลายเชน ได้แก่
1.ถ้าจ้างงานไม่ไหวจะมีคนตกงานกลับมาเป็นปัญหาให้รัฐบาลและสังคมต้องดูแลต่อไป
2.ลดการขยายตัวทางธุรกิจและการลงทุน ระยะสั้นจะเกิดภาวะช็อตไม่น้อยกว่าครึ่งปีจากใชัอัตราใหม่ที่สูงเกินรับไหว จะเกิดการฟรีซการจ้างงานระยะยาว
3.ประชาชนแบกรับการปรับราคาสินค้าหรือบริการ เพราะต้นทุนธุรกิจสูง จะสะท้อนไปกับราคาสินค้าและค่าบริการ กลายเป็นวงจรค่าครองชีพที่ดีดตัวสูง กระทบประชาชนทุกคน แม้จ่าย 400 บาท แต่แบกรับค่าใชัจ่ายแพงขึ้น แรงงานก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แรงงานโดยตรง
4.เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มแน่นอน ตอนนี้เงินเฟ้อต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมองว่าจะลดดอกเบี้ยได้ไหม หากขึ้นค่าแรงดันเงินเฟ้อสูงขึ้น โอกาสปรับลดดอกเบี้ยจะต่ำลง
“สรท.”ชี้ไม่สอดคล้องกับสภาพธุรกิจ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ไม่สอดคล้องรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (Productivity) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 1% สะท้อนผลิตภาพที่เปราะบางและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะกระทบอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และ SMEs ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงได้ในเวลาอันสั้น ควรพิจารณาปรับค่าแรงอย่างรอบคอบและปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป