9 เดือน 'พีระพันธุ์' อุดหนุนพลังงานแสนล้าน กองทุนน้ำมัน จ่ายดอก 200 ล./เดือน

9 เดือน 'พีระพันธุ์' อุดหนุนพลังงานแสนล้าน กองทุนน้ำมัน จ่ายดอก 200 ล./เดือน

9 เดือน "พีระพันธุ์" อุดหนุนพลังงานแสนล้าน "กองทุนน้ำมัน" ภาระอ่วม ต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละกว่า 200-250 ล้าน พยุงค่าครองชีพประชาชน

ราคาพลังงานถือเป็นต้นทุนสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ต่างให้ความสำคัญในการลดค่าครองชีพในส่วนนี้ จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้กลไกสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 พร้อมประกาศนโยบายตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในขณะนั้นราคาดีเซลอยู่ที่ระดับ 31.94 บาทต่อลิตร และเคยสูงสุดที่ 33.94 บาทต่อลิตร โดยมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ได้เริ่มใช้ระหว่าง 1 ม.ค.-31มี.ค. 2567 

ใช้กองทุนน้ำมันตรึงดีเซล 54,095 ล้าน

โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ส.ค. 2566 ติดลบรวม 55,091 แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 10,375 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 44,716 ล้านบาท ในขณะที่ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดวันที่  5 พ.ค. 2567 ติดลบ 109,186 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 61,640 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 47,546 ล้านบาท

ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ ได้อุดหนุนบัญชี LPG รวม 9 เดือนที่ 2,830 ล้านบาท ส่วนบัญชีน้ำมันอุดหนุน 51,265 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 54,095 ล้านบาท 

นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันได้กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องรวม 105,333 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินช่วยเหลือด้านลดภาษีน้ำมันจากกระทรวงการคลังด้วย

ลดภาษีเบนซินบวกกองทุนน้ำมันกว่า1.5 พันล้าน 

อย่างไรก็ตาม ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ 95 และเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงลิตรละ 1 บาท รวม 3 เดือน มีผล 7 พ.ย. 66 โดย 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร แต่หลังจากที่ได้ไปทำงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับทราบจากกระทรวงการคลังว่า ภาษีสรรพสามิตไม่ได้แบ่งแยกสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 โดยเป็นอัตราเดียวกัน ฉะนั้น จึงได้เสนอการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ทั้ง 91 และ 95 ลงในอัตรา 1 บาทต่อลิตรเท่ากัน ซึ่งในส่วนของเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 และให้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนเพิ่มอีก 1.50 บาทต่อลิตร ให้เป็น 2.50 บาท

ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน หากคิดอัตราที่ต้องสนับสนุน 2.50 บาทต่อลิตร จะเป็นเงินอุดหนุนอยู่ที่วันละประมาณ 18 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 500 ล้านบาท รวมการช่วยเหลือ 3 เดือนจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

"กฟผ."อุ้ม ใช้งบกล่างลดค่าไฟกว่า 51,013 ล้าน

ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 45/2566 (ครั้งที่ 873) วันที่ 5 ต.ค. 2566 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนก.ย. - ธ.ค. 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติ ครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย ดังนั้น กฟผ. จึงรับภาระเพิ่มอีก 0.46 บาท คิดเป็นเงินงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 อีก 27,000 ล้านบาท (ทุก 1 สตางค์ที่กฟผ. รับภาระจเท่ากับ 600 ล้านบาท) 

ในขณะที่งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ซึ่ง กกพ. ได้เรียกเก็บค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมสำหรับงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน 

พร้อมเรียกเก็บ Shortfall กรณีที่ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2563 - 2565 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้ ปตท. ส่งผ่านเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท โดยให้นำมาลดค่าก๊าซในรอบเอฟทีงวด ม.ค. – เม.ย. 67 ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 4.47 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท (ม.ค.-เม.ย.67 รวม 22,213ล้านบาท) 

งวดพ.ค. - ส.ค. 2567 กกพ.เรียกเก็บค่าเอฟทีในอัตรา 39.72 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท ใน 7 งวด ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรอบ พ.ค. - ส.ค. 2567 ยังคงรักษาระดับอยู่ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามที่ กฟผ. เสนอ

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้างวดดังกล่าวเป็นการเริ่มจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย 

ดังนั้น ในส่วนนี้รัฐบาลขออนุมัติงบกลางจำนวน 1,800 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางราว 17 ล้านครัวเรือน จ่ายไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย จากที่ต้องจ่าย 4.18 บาทต่อหน่วย 

ดังนั้น เมื่อรวมการอุดหนุนพลังงานทุกกลุ่มทั้งดีเซล เบนซิน LPG และไฟฟ้า ตามนโยบายของนายพีระพันธุ์ จะรวมเป็นเงินอุดหนุนเบื้องต้นราว 109,438 ล้านบาท