‘จุลพันธ์’ มั่นใจจัดเก็บรายได้ปี 67 เข้าเป้า เร่งเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
“จุลพันธ์” ไม่หวั่นจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกปีงบ 67 พลาดเป้า 2.7 หมื่นล้าน มั่นใจรายได้เข้าเป้า เร่งรัดเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปีนี้การจัดเก็บรายได้ยังไม่อยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 จะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามประมาณการเอกสารงบประมาณ ยกเว้นในกรณีที่อาจมีการดำเนินมาตรการการคลังเพิ่มเติม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
โดยงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ในช่วง 5 เดือนสุดท้าย จะเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณโดยกรมบัญชีกลาง จะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือเร่งตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางการจัดเก็บรายได้เพิ่มโดยการปรับโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องในระยะยาวและยังทำได้ยากในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง จึงไม่ใช่เวลาเหมาะสมในการปรับขึ้นภาษี
ทั้งนี้ กลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีทั้ง 3 หน่วยงาน คือกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ได้มีการพิจารณาและศึกษาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
“ซึ่งเร็วๆ นี้ คงจะมีการนัดหารือกับทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐเพื่อนำมาใช้ประโยชน์และทำสวัสดิการให้กับประชาชน โดยไม่เป็นภาระกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”
รายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – มี.ค.2567) จัดเก็บรายได้สุทธิอยู่ที่ 1,168,900 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 27,819 ล้านบาท หรือ 2.3%
โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการณ์
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ และรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บ รวมกันอยู่ที่ 1,250,511 ล้านบาท ต่ำว่ากว่าประมาณการ 28,677 ล้านบาท หรือ 2.2% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 30,228 ล้านบาท หรือ 2.5% แบ่งออกเป็น
กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 930,110 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการณ์ 6,944 ล้านบาท หรือ 0.8% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 14,845 ล้านบาท หรือ 1.6%
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 260,927 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการณ์ 37,795 ล้านบาท หรือ 12.7% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 23,231 ล้านบาท หรือ 9.8%
กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 59,474 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการณ์ 2,174 ล้านบาท หรือ 3.8% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7,848 ล้านบาท หรือ 11.7%